“เรืองไกร” เตรียมร้องผู้ตรวจฯ ส่งศาลรธน.พรุ่งนี้ บอกกม.อาญานักการเมืองขัดรัฐธรรมนูญ

แฟ้มภาพ
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า หลังจากศึกษาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. …. พบว่ามาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกกฎหมายเดิม 2 ฉบับ คือ 1.พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และ 2.พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 พ.ศ.2550
นายเรืองไกรกล่าวว่า มาตรา 13 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ที่แก้ไขเมื่อปี 2550 เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งนี้ตามที่นายเกรียงไกร จึงจตุรพิธ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พูดแถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2551 โดยสรุปว่าผู้พิพากษาเองก็เห็นว่ามาตรา 13 ที่แก้ไขให้องค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน มีผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาได้ไม่เกิน 3 คนนั้น ขัดต่อมาตรา 219 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ดังนั้น เมื่อนำคำพูดของนายเกรียงไกรไปพิจารณากับกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง จึงมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2550 นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 219 วรรคสี่ เพียงแต่ศาลหรือคู่ความยังไม่มีการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้น ตนจึงต้องส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
นายเรืองไกรกล่าวว่า นอกจากนี้ตนยังสงสัยกระบวนการตรากฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2550 ด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นอีกฉบับหนึ่งที่ตราโดย สนช. ที่องค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งด้วยหรือไม่ เมื่อไปตรวจสอบรายงานการประชุม สนช.ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2550 ก็พบว่าในวันนั้น สนช. มีสมาชิกทั้งสิ้น 239 คน แต่กฎหมายดังกล่าวได้มีการลงมติในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 111 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง ซึ่งเท่ากับว่าในขณะลงมตินั้นมีสมาชิก สนช.ในที่ประชุมสภาเพียง 112 คน ไม่ถึง 120 คน ซึ่งเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ 239 คน ผลก็คือองค์ประชุมไม่ครบตามความในรัฐธรรมนูญ 2549 มาตรา 9 ซึ่งยังใช้อยู่ในขณะนั้น และหากพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยร่างกฎหมายที่ตราโดย สนช.ในสมัยเดียวกันให้ตกไปเพราะองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จำนวน 7 ฉบับ จะเห็นได้ว่ากฎหมายมาตรา 13 ดังกล่าวที่มีการลงมติโดยองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งนั้น ถือเป็นกระบวนการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ยังถูกนำมาใช้ในการพิจารณาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

นายเรืองไกรกล่าวว่า สิ่งที่พบเท่ากับว่าในศาลฎีกาอาจมีการใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด และมิหนำซ้ำยังอาจมีการใช้กฎหมายที่ตราโดยไม่ชอบรัฐธรรมนูญอยู่อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะประธานแผนกคดีศาลอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พูดไว้ชัดเจนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

นายเรืองไกรกล่าวสรุปว่า เรื่องที่พบเป็นประเด็นความผิดพลาดถึง 2 ชั้น ดังนั้น เมื่อตนมาพบแล้วแม้เวลาจะผ่านไปนานร่วม 10 ปีแล้ว แต่เพื่อให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐอย่างถูกต้อง ก็ต้องใช้ช่องทางส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้บทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎหมายดังกล่าวสิ้นผลไปโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่วนบุคคลใดในฐานะคู่ความแต่ละคดีที่ได้รับผลกระทบทั้งทางคดีที่เกี่ยวข้อง จะไปร้องหาความชอบธรรมคืนมาเองหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของคู่ความในแต่ละคดี แต่สำหรับตนก็จะใช้สิทธิร้องเพื่อให้สังคมเห็นหลักการที่ถูกต้องโดยทั่วไปก่อน โดยไปยื่นหนังสือเรื่องนี้ด้วยตนเองที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ เวลา 10.00 น. พร้อมทั้งขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้ศาลซึ่งเห็นเองในบทบัญญัติเรื่ององค์คณะดังกล่าวให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงอีกด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์