“บิ๊กโย่ง” เคาะเอราวัณ-บงกช จ่อใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตประมูลส.ค.นี้

“บิ๊กโย่ง” ยัน เปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ ส.ค.นี้ คาดนำเสนอกฎกระทรวงเกี่ยวข้องและเงื่อนไขการเปิดประมูลให้ ครม.พิจารณาภายในเดือน ก.ค.นี้ ชี้ใน TOR จะระบุให้ชัดเจนว่าแต่ละแหล่งใช้รูปแบบใด ด้านกรมเชื้อเพลิงฯ แจงยังเหลือกฎหมายอีก 2 ฉบับที่จ่อยื่นให้ ครม.พิจารณา

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงพลังงาน จะดำเนินการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัญญาในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565-2566) ใน 2 แหล่งสำคัญคือ แหล่งเอราวัณ (B10-B13) ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และแหล่งบงกช (B15-B17) ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงการดำเนินการนำเสนอกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่เหลืออีกประมาณ 2 ฉบับ และรายละเอียดของเงื่อนไขการเปิดประมูล หรือ TOR ของทั้ง 2 แหล่ง เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ สำหรับรายละเอียดของเงื่อนไขการประมูลนั้น จะระบุไว้ชัดเจนว่าแต่ละแหล่งจะใช้รูปแบบใดระหว่างระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC (Production Sharing Contract) และระบบสัมปทาน (Concession) (จากเดิมทีที่จะนำเสนอ 2 แนวทางโดยให้ ครม.เป็นผู้พิจารณา)

ในกรณีที่ ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอแล้ว หลังจากนั้นก็จะเริ่มเปิดประมูลทันที ส่วนในกรณีที่ไม่ผ่านจะต้องดำเนินการปรับแก้ไขตาม ครม.มีความเห็น ทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะดำเนินการทุกอย่างให้โปร่งใสตามขั้นตอน ซึ่งเชื่อมั่นได้เลยว่าการประมูลครั้งนี้จะมีความโปร่งใสและเป็นธรรม และเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและพึ่งพาพลังงานภายในประเทศให้มากที่สุด

“ต้องเร่งดำเนินการในการต่ออายุสัญญา เพราะตอนนี้เวลาก็ไล่หลังมา หลังจากที่ล่าช้าในการดำเนินการกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งก็คาดว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้ดำเนินการเปิดประมูลให้ทันในเดือนสิงหาคมนี้”

ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่า ก่อนหน้านี้กรมเชื้อเพลิงฯ ได้มีการดำเนินการนำเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้กับคณะกรรมการปิโตรเลียม พร้อมทั้งทยอยนำเสนอต่อ ครม.ไปแล้ว แบ่งเป็น กฎกระทรวง 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับระบบแบ่งปันผลผลิต และ 1 ประกาศ เช่น กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (มาตรา 53/1) 2) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาในการให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต นำส่งค่าภาคหลวงแก่รัฐ (มาตรา 53/6) และกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (มาตรา 53/2) และขณะนี้เตรียมนำเสนอกฎกระทรวงอีก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับระบบจ้างผลิต หรือ Service Contract ซึ่งคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของ ครม.เร็ว ๆ นี้

ล่าสุด ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้กระทรวงพลังงานจะนำเสนอเงื่อนไขการเปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณต่อ ครม. โดยในเบื้องต้นสำหรับแหล่งบงกช จะมีการนำเสนอให้เปิดประมูล โดยใช้รูปแบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับร่างหลักเกณฑ์วิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะเปิดให้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น กรมเชื้อเพลิงฯได้กำหนด 3 ปัจจัยหลักที่จะใช้เป็นเกณฑ์ว่า แต่ละแหล่งปิโตรเลียมจะใช้รูปแบบใด ประกอบไปด้วย ปริมาณสำรอง 2P หรือปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วรวมกับปริมาณสำรองที่เชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะผลิตปิโตรเลียมได้ในอนาคตจากแหล่งสำรวจที่พบแล้ว รวมถึงค่าปริมาณสำรองที่เหลืออยู่ หรือ EUR (Estimated Ultimate Recovery) และค่าความสำเร็จในการสำรวจ (Success Ratio) ทั้งนี้แหล่งปิโตรเลียมที่เข้าข่ายที่จะถูกเลือกใช้กับระบบจ้างผลิต ในกรณีที่เป็นแหล่งน้ำมันจะใช้เกณฑ์ค่าปริมาณสำรอง 2P “มากกว่า” 300 ล้านบาร์เรลมีค่าปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองที่เหลืออยู่ที่ 4 ล้านบาร์เรล/หลุม ส่วนแหล่งก๊าซจะต้องมีค่าปริมาณสำรอง 2P อยู่ที่ “มากกว่า” 3 ล้านลูกบาศก์ฟุต และค่าปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองที่เหลืออยู่มากกว่า 40 ล้านลูกบาศก์ฟุต

ส่วนในกรณีที่แหล่งปิโตรเลียมนั้นไม่เข้าเกณฑ์ใด ๆ จะนำค่าความสำเร็จในการสำรวจ (Success Ratio) มาพิจารณาว่า แหล่งนั้น ๆ มีค่าความสำเร็จในระดับใด หากอยู่ในระดับที่ “มากกว่า” ร้อยละ 39 ก็จะถูกเลือกให้ใช้ ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC แต่หากมีค่าความสำเร็จในการสำรวจที่ “ต่ำกว่า” หรือ “เท่ากับ” ร้อยละ 39 แหล่งปิโตรเลียมนั้นจะถูกเลือกให้ใช้ระบบสัมปทาน