ส่องปรากฏการณ์ “SELL IN MAY” ปี 2565 แรงขายหุ้นไทยมากแค่ไหน?

หุ้นไทย หุ้นร่วง

เดือนพฤษภาคม ปกติมักเป็นเดือนที่นักลงทุนไม่ค่อยเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นมากนัก เดือนนี้จึงมักเป็นเดือนที่หุ้นปรับตัวลง หรือขึ้นก็ขึ้นไม่มาก หลายคนจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘SELL IN MAY’

วันนี้ Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน EP ที่ 13 จะไปเช็กภาวะตลาดหุ้นไทยเผชิญ SELL IN MAY ปีนี้มากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิดที่พุ่งต่อเนื่อง และหุ้นตัวไหนที่น่าเติมหรือเก็บเข้าพอร์ตลงทุน ร่วมพูดคุยกับ คุณวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย จากบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ครับ

Q: ปรากฏการณ์ ‘Sell in May’ ปีนี้หุ้นไทยเสี่ยงถูกขายมากน้อยแค่ไหนครับ ความรุนแรงการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างไร

ภาพรวมของตัวทิศทาง Sell in May ต้องบอกว่าทุก ๆ ปี เวลาจะเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ตลาดจะกลับมาพูดกันทุกครั้ง คีย์เวิร์ดที่สำคัญ Sell in May ต้องรู้ก่อนว่าเกิดจากอะไร ถ้าเกิดเอาภาวะของปกติ สัญญาณของช่วงเดือนพฤษภาคม อาจจะมีสัก 3 ประเด็นที่เข้ามาทำให้เกิด Sell in May ได้

คีย์เวิร์ดที่หนึ่งคือ ผลประกอบการ เป็นช่วงที่ผลประกอบการไตรมาส 1 ออกมาหมดแล้ว ช็อตที่สองคือ เรื่องปันผล จะมีหุ้นต่าง ๆ ขึ้นเครื่องหมาย XD ค่อนข้างเยอะ ช็อตที่สามคือ ในช่วงกลางๆ ปี ไตรมาส 2 ไตรมาส 3 สัญญาณจะเป็นโลว์ซีซันของตัวธุรกิจ ทำให้ไม่ค่อยมีปัจจัยอะไรมาช่วยหนุน

ทำให้กลัวว่าเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติจะขายออกและกลับไปบ้านเขา เพื่อฟอร์มการลงทุนอีกช็อตหนึ่ง ทีนี้คำถามคือ จุดที่จะทำให้แต่ละปีแตกต่างกันในเรื่องของ Sell in May ต้องไปดูปัจจัยเฉพาะตัวในช่วงนั้น ๆ

ปีนี้สัญญาณของการเข้ามาอิมแพ็ค มีทั้งรัสเซียยูเครน โควิด นโยบายการเงินของเฟด หรือว่าแรงกระตุ้นจากภาครัฐ และท้ายที่สุดปิดด้วย valuation สัก 4-5 ประเด็นที่เกริ่นมา ผมต้องบอกว่าคีย์เวิร์ดของปีนี้ รัสเซียยูเครนคือค่อนข้างซึมซับไปในตลาดค่อนข้างเยอะแล้ว แม้ว่าจะไม่จบ เพียงแต่ตลาดคงไม่ให้ประเด็นมาก

ขณะที่โควิดคล้าย ๆ กันคือ แม้ว่ารุนแรงเหมือนตัวรัสเซียยูเครนก็ตาม เชื่อว่าตลาดจะไม่ค่อยให้ประเด็นกับประเด็นนี้ คีย์เวิร์ดของภาพนโยบายการเงินเฟด ผมเชื่อว่าจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะต้นเดือนพฤษภาคม จะมีจังหวะที่เรียกว่าพูดคุยกันอีกรอบหนึ่ง วันที่ 3-4 ในการประชุม Meeting

รอบนี้ตลาดอาจจะมีจังหวะในการซึมซับไปแล้ว ผมเชื่อว่าขึ้นอยู่กับโมเมนตัมของมติ ถ้ามติรอบนี้ออกมาที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% และการใช้งบดุลมีจังหวะในการลด Balance Sheet ลงมา 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ผมว่าถ้ามี 2 ตุ๊กตาตัวนี้ขึ้นมา และเฟดใช้มติด้วยตัวเลขคล้าย ๆ แบบนี้ ผมเชื่อว่าจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่ไม่ได้น่ากลัว เพราะว่าตลาดเหมือนพยายามซึมซับประเด็นพวกนี้ไปหมดแล้ว

ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ เรื่องของรีเทิร์นของตลาดหุ้น ต้องบอกว่าในเชิงของ Valuation ในช่วงของปีที่ผ่านมา ถ้ามีจังหวะในการปรับฐานก่อนในเดือนเมษายน ตลาดมักจะซึมซับปัจจัยต่าง ๆ ไปแล้ว

ปีนี้ตลาดมีจังหวะในการปรับฐานลงมาสักประมาณ 0.7% แล้ว ถ้าเดือนเมษายนมีจังหวะในการถอยลงมาเยอะ ผมเชื่อว่าความเสี่ยงของเดือนพฤษภาคมที่จะเกิด Sell in May ก็จะน้อยลง

จุดสุดท้ายเป็นจุดเสริมคือ เรื่องของตัวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงกลางปี เชื่อว่าโมเมนตัมต่าง ๆ จะดีขึ้น ดังนั้นตอบโจทย์สัก 4-5 ประเด็นที่เฉพาะสำหรับปีนี้ ผมเชื่อว่าไม่ได้เอื้อหนุนให้โอกาสในการเกิดความเสี่ยง Sell in May เกิดขึ้นมากนัก

Q: ถ้าดูสถิติดัชนี SET INDEX และแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนพฤษภาคม ย้อนหลังสถิติในรอบกว่า 10 ปี ดัชนีลงไปกี่ครั้ง และต่างชาติขายสุทธิไปกี่ครั้ง

ภาพรวมถ้าไปดูในเชิงสถิติย้อนหลังของตัว SET Index 10 ปี ตั้งแต่ปี 2012-2021 จะเห็นว่าภาพรวมของการเกิด Sell in May หรือการปรับตัวลงของ SET Index ในเดือนพฤษภาคม จะเกิดสักประมาณ 6 ครั้งใน 10 ปี หรือคิดง่าย ๆ 60% นั่นเอง

ทีนี้คำถามคือ 6 ใน 10 ยังไม่ได้ตอบโจทย์ว่าจะมีนัยสำคัญมากมาย เพราะเกินครึ่งมาเพียงแค่นิดเดียวเท่านั้นเอง ถ้าเอาจุดหนึ่งมาแบ็ค คือ คนจะกลัวว่าเกิดจากฝั่งต่างชาติขาย และถล่มหุ้นไทย และกลับบ้านเขาเนี่ย เราไปดูย้อนหลัง 10 ปีล่าสุด จะเห็นว่าต่างชาติขาย 6 ใน 10 ปีเหมือนกันเลย

เพียงแต่ว่าเอา Time Frame มาจับคู่กันแล้ว ต้องบอกว่าไม่ได้มีนัยสำคัญ ในจังหวะปีที่ต่างชาติขาย SET Index ต้องลง

ถ้าเราเอาสองช็อตมาเปรียบเทียบกันคือ ทั้ง SET Return บวกหรือลบ เอามาเปรียบเทียบกับปีเดียวกันนั้น ที่ต่างชาติจะขายหรือซื้อ จะเห็นได้ว่ามีแค่ 3 ใน 10 ปีเท่านั้นเอง ที่ต่างชาติขายแล้ว SET Index ปรับตัวลง

คำตอบคือ ผมว่า Correlation ระหว่างประเด็นต่างชาติขายทำให้ SET Index ลง และเกิดภาวะ Sell in May จริง ๆ แล้วไม่ค่อยมีนัยสำคัญขนาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปีหลัง ๆ แทบจะไม่ค่อยเกิดเลย

และจริง ๆ ทิศทางการสวนทางกันเห็นได้ค่อนข้างชัด เช่น ปีล่าสุด 2 ปีให้หลังต่างชาติขายคู่กันเลย 2 ปีติด แต่ SET Index ในเดือนพฤษภาคมปรับตัวขึ้นนะครับ

Q: ถ้าดูกลยุทธ์การลงทุนในเดือนพฤกษาคม หากขายหุ้นไปแล้ว เราควรจะไปลงทุนสินทรัพย์ใดต่อ หรือว่ามีหุ้นบางตัวที่พื้นฐานดีและน่าจะเก็บเติมเข้าพอร์ตได้

เชื่อว่าทิศทางเหมือนเดิมคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนธีมการลงทุนที่น่าสนใจ ดังนั้นถ้ามองหาหน้าหุ้นของการทยอยสะสมในโซนนี้ได้ เลือกหน้าหุ้นที่ลิงค์กับ Domestic Play เป็นหลัก เช่น สนามบินเป็นด่านแรกในการเข้า วางไว้เป็น AOT ตัวแรก

ขณะที่กลุ่มที่สองวางไว้หน้าหุ้นกลุ่มค้าปลีก วางไว้ที่พี่ใหญ่ตัว CPALL เป็นตัวหลัก และสัญญาณค้าปลีกตัวกลางวางไว้ที่ GLOBAL เพราะโมเมนตัมของไตรมาส 1 เราคาดการณ์ว่ายังคงสามารถเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ได้ต่อเนื่อง