แบงก์ชาติมองเศรษฐกิจ Q2 ฟื้นตัว คาดเงินเฟ้อบางช่วงจ่อแตะ 8%

เงินเฟ้อ
ภาพจาก pixabay

ธปท. ยันเงินเฟ้อยังพุ่งต่อเนื่องมีโอกาสแตะ 8% ตามราคาพลังงานและอาหาร เผยเศรษฐกิจไตรมาส 2 ฟื้นตัวดีกว่าไตรมาสแรก ระบุเศรษฐกิจเดือน พ.ค.ดัชนีชี้วัดขยายตัวทุกหมวด “การบริโภค-การลงทุนภาคเอกชน” ขยายตัว 0.6% ส่งออกโตตามคูค่า 13.4%

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 7.1% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 4.65% ซึ่งมาจากหมวดราคาพลังงาน และการปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ค.อยู่ที่ 2.28% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 2.20% ซึ่งมาจากราคาอาหารและน้ำประปาที่ปรับเพิ่มขึ้น และหากมองเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า คาดว่าจุดสูงสุด (พีก) น่าจะยังอยู่ในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยบางช่วงมีโอกาสที่จะเห็นเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 8% ได้ แต่ทั้งไตรมาสคาดว่าเงินเฟ้อจะยังเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 % และทั้งปีอยู่ที่ 6.2%

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2565 ขยายตัวดีกว่าไตรมาสที่ 1/2565 และช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะถ้าหากดูตามเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสะท้อนการฟื้นตัว และดัชนีปรับดีขึ้นในหลายตัว และหากมองไปในระยะข้างหน้ายังเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลจริงของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เศรษฐกิจไทยขยายตัวไตรมาส 1 ขยายตัวอยู่ที่ 2.2 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ที่จะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากแรงส่งของการท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะกลับมามากในครึ่งปีหลัง โดยทั้งปีอยู่ที่ 6 ล้านคน ทำให้ ธปท.ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ตามประมาณการณ์ที่คาดไว้ที่ 3.3 %

“หากมองไปข้างหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนยังขยายตัวไปได้ดี แม้จะไม่หวือหวามากนัก เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องของราคาและต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นยังเป็นแรงกดดัน แต่ยังคงอยู่ในประมาณการเติบโตล่าสุด 3.3% ซึ่งรวมทุกปัจจัยเสี่ยงเข้าไปคำนวณแล้ว”

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 0.6% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้าสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับขึ้น อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าไม่คงทนลดลงตามยอดจำหน่านสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นผลมาจากราคาที่สูงขึ้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.6% มาจากหมวดอุปกรณ์เครื่องจักร และสินค้าทุน เป็นต้น

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น เช่น โรงแรม ขนส่ง และภัตตาคาร ปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเข้ามมาโดยในเดือน พ.ค.มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา 5.2 แสนคน จากภาพรวมตั้งแต่ต้นปีมีจำนวนทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน ส่งผลต่อตลาดแรงงานที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น โดยความเชื่อมั่นผู้ประกอบอาชีพอิสระเป็นบวก และจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ทยอยปรับดีขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าก่อนโควิด

ส่วนภาคการส่งออกปรับดีขึ้นเกือบทุกมหวดสินค้าสอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัว 13.4% (ไม่รวมทองคำ) และขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี หมวดยานยนต์ปรับชะลอตัวลงจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว -0.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนจากรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ เพราะมีการเร่งเบิกจ่ายไปก่อนหน้านี้

สำหรับสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 7.1% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 4.65% ซึ่งมาจากหมวดราคาพลังงาน และการปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ค.อยู่ที่ 2.28% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 2.20%

ซึ่งมาจากราคาอาหารและน้ำประปาที่ปรับเพิ่มขึ้น และหากมอองเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า คาดว่าจุดสูงสุด (พีก) น่าจะยังอยู่ในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยบางช่วงมีโอกาสที่จะเห็นเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 8% ได้ แต่ทั้งไตรมาส คาดว่าเงินเฟ้อจะยังเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 %

นางสาวชญาวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในเดือน พ.ค.มีทิศทางอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าตามความกังวลของนักลงทุน ทั้งจากเรื่องนโยบายธนาคารกลางหลายประเทศเร่งขึ้นดอกเบี้ยจากแรงกดดันเงินเฟ้อ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ และเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี หากดูการอ่อนค่าประเทยยังถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศภูมิภาค

และหากดูข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 23 มิ.ย. 65 เงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าลงจากความกังวลของนักลงทุนภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และกังวลว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จึงมีความระมัดระวังในการลงทุนตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ทำให้ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าต่อเนื่อง

“แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่ามาจากปัจจัยหลักที่ดอลลาร์แข็งค่าจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก และดอกเบี้ยที่เร่งปรับขึ้น ทำให้ดอลลาร์เป็นที่ต้องการ และกดดันค่าเงิน ดังนั้น ค่าเงินบาทยังคงเห็นการอ่อนค่าอยู่ แต่คงไม่ได้หวือหวามากนัก


ซึ่ง ธปท.ได้ติดตามและมอนิเตอร์ใกล้ชิด ส่วนเงินทุนเคลื่อนไหลย้ายภาพรวมทั้งปียังคงมองเป็นทิศทางไหลเข้า โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนนี้ขาดดุล 3.7 พันล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฤดูกาลจ่ายปันผลของบริษัทต่างชาติ แต่คาดว่าไตรมาสที่ 3-4 จะกลับมาดีขึ้น เพราะการท่องเที่ยวฟื้นตัว”