ระวัง “ค่าแรง-ค่าบาท” ซ้ำเติมเอสเอ็มอี

บทบรรณาธิการ

มีหลายปัญหารุมเร้ายังแก้ไม่ตก ทำให้การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดไตรภาคี) ซึ่งจะประชุมชี้ขาด 17 ม.ค. 2561 เป็นมรสุมอีกระลอกที่ธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต้องเผชิญ

ในส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แม้ที่ประชุมบอร์ดไตรภาคี 10 ม.ค.ที่ผ่านมายังถกไม่ลงตัว แต่ครั้งหน้ากระทรวงแรงงานยืนยันแล้วว่าจะเคาะขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดให้แล้วเสร็จ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการ นายจ้างยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบ

ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 40 เดือน ตั้งแต่ ต.ค. 2557 และล่าสุด เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 31.93 บาท/ดอลลาร์นั้น แม้จะแข็งค่าในทิศทางเดียวกับค่าสกุลเงินในภูมิภาค แต่ต้องยอมรับว่าเวลานี้เงินบาทแข็งค่าในระดับต้น ๆ ในอาเซียนและเอเชีย เป็นรองแค่เงินริงกิตของมาเลเซียเท่านั้น ทำให้ภาคส่งออกที่เพิ่งฟื้นกลับมามีปัญหาซ้่ำ

ปัจจัยลบค่าจ้างขั้นต่ำกับบาทที่แข็งค่า ซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน จึงทำให้เอสเอ็มอีที่มีปัญหาหนักอยู่แล้วมีแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีภาคส่งออกที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าแรงเพิ่ม แต่รายได้จากการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศลดน้อยลง เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้ 10% เมื่อเทียบกับปี 2560

ส่งผลต่อเนื่องทำให้ศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยที่ต่ำอยู่แล้วย่ำแย่ลงอีก น่าห่วงสุดคือเอสเอ็มอีรายกลางรายเล็กที่มีปัญหาด้านรายได้ ขาดสภาพคล่อง มีหนี้สิน หากได้รับผลกระทบจากค่าแรงและค่าบาทรุนแรงอาจล้มหายตายจาก

การชะลอพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างที่จะประกาศใช้ใหม่ปีนี้ ให้บอร์ดไตรภาคีได้ทบทวนกลั่นกรองข้อมูลรวมทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมทั้งกับลูกจ้าง นายจ้างให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายจึงถือว่ามาถูกทาง แม้ผลสรุปที่ลูกจ้างกำลังรอคอยอาจล่าช้าออกไปบ้าง

เช่นเดียวกับที่ภาครัฐกำลังระดมสมองหลายหน่วยงานหาทางรับมือปัญหาค่าบาทแข็ง เป้าหมายเพื่อให้ได้แนวทางรับมือความผันผวนในตลาดเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบจากปัจจัยบวกและลบภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากทำได้จะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวง และช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะสำเร็จได้ยากถ้าหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ส่งออก มัวแต่รอความช่วยเหลือจากรัฐ ไม่ดิ้นรนช่วยเหลือตนเอง ที่สำคัญไม่ยอมปรับตัวรับการปรับเปลี่ยนของกระแสโลกที่เร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น