ขึ้นดอกเบี้ย สะเทือนดวงดาว

ขึ้นดอกเบี้ย
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

10 สิงหาคม 2565 กนง.มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.75% ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง

ถือเป็นการปรับขึ้นเบา ๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียกว่าแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 0.25% อีกสองครั้งในปีนี้ และยังอาจต้องขึ้นต่อเนื่องในปีหน้าเพื่อปราบเงินเฟ้อ

เรียกว่าเป็นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นที่คนไทยไม่คุ้นชินมานาน

แต่สำหรับประเทศไทยมีหนี้ภาคครัวเรือนสูงถึง 14.65 ล้านล้านบาท หรือ 89.2% ของจีดีพี ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ คนที่เป็น “ลูกหนี้” แน่นอนว่ายอมต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายมากขึ้น หมายความว่าเงินสำหรับใช้จ่ายย่อมลดลงโดยอัตโนมัติ

สิ่งสำคัญก็คือทุกคนต้องมีวินัยการเงินมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ “รายจ่าย” สมดุลกับ “รายได้” โดยเฉพาะในยุคที่ภาระค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นทุกด้าน โดยเงินเฟ้อเดือน ก.ค. อยู่ที่ 7.61% และกระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 5.5-6.5%

และที่สำคัญ นี่ไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย แต่จะมีการปรับขึ้นต่อเนื่องซึ่งยังไม่รู้ว่าจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับเท่าไหร่

นี่จึงเป็นความเปราะบางของ “ลูกหนี้” ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นกลับมา แต่รายจ่ายพุ่งทะลุเพดานทุกตัว ทั้งราคาพลังงาน ค่าไฟ ราคาอาหารและอื่น ๆ ที่พากันปรับขึ้นราคา

ในแง่ของ “ลูกจ้าง” อาจมีข่าวดีบ้างจากที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8% ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ

แม้การปรับค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ได้สูง แต่สำหรับฟาก “นายจ้าง” โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศที่มีกว่า 3 ล้านราย อาจตกที่นั่งลำบากจากภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าไฟ ค่าแรง ขณะที่ความสามารถการปรับตัว จนถึงการส่งผ่านราคาสินค้าอาจไม่ง่าย

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่คงมีผลกระทบไม่มาก เพราะมีศักยภาพในการบริหารจัดการต้นทุนต่าง ๆ ได้ดีกว่าอยู่แล้ว แถมต้นทุนการเงินก็ยังต่ำกว่าเอสเอ็มอี

โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอี ที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสียกลับมา

ดังนั้น ในวันเดียวกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% “ผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทย ก็ตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงถึงแนวทางของธนาคารพาณิชย์ ที่จะช่วยประคับประคองลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

โดยระบุว่า ธนาคารพาณิชย์จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปเท่าที่จะทำได้ และดูแลการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถสร้างสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ประธานสมาคมธนาคารไทยระบุว่า ขณะนี้ยังมีลูกหนี้ (เปราะบาง) ทั้งระบบอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของ ธปท. จำนวน 1.6 ล้านบัญชี ยอดหนี้เกือบ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งก็คือกลุ่มที่ประสบปัญหาขาดรายได้ในช่วงโควิด-19 ต้องเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้-ยืดการชำระหนี้ออกไป

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ที่มีความเสี่ยงต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลายเป็นเอ็นพีแอล จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในลักษณะ K shaped economy

ดังนั้น ธนาคารต่าง ๆ จะให้ความช่วยเหลือดูแลคุณภาพสินทรัพย์ไม่ให้เกิด “หน้าผาเอ็นพีแอล”


และล่าสุด ธปท.ก็อัดมาตรการซอฟต์โลนวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น) เป็น “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” ให้สามารถอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ K shaped เพราะหลายฝ่ายก็เกรงว่าในภาวะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ถาโถมจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เสมือนดาวดวงเล็ก ๆ ในระบบเศรษฐกิจจะดับลง