เศรษฐกิจ “ลวงตา”

สัมมนา
คอลัมน์ : บทนำ

ได้รับความสนใจอย่างมากกับงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” จัดโดยประชาชาติธุรกิจ มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาทั้งการเงิน หุ้น รัฐบาล และภาคธุรกิจ ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงแสดงทรรศนะในแง่มุมต่าง ๆ สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก เพื่อให้คนไทยรู้เท่าทันหรือเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และที่ต้องเผชิญในปีหน้า

กูรูหลายท่านแสดงความคิดเห็นคล้ายกันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า ยังเดินต่อได้เพราะเติบโตในระดับ 3-4% แต่ที่น่าห่วงคือเศรษกิจโลกปีหน้า ประเมินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีแนวโน้มชะลอตัวแต่ไม่ถึงขั้นถดถอย ซึ่งส่งผลกับหลายประเทศที่พึ่งพิงการส่งออก หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ที่เสาหลัก 2 ขาคอยพยุงเศรษฐกิจมาต่อเนื่องนับสิบปีคือภาคส่งออก และท่องเที่ยว

ภาคส่งออกนั้นปีนี้เติบโตได้ดีเยี่ยม แต่ปีหน้าอาจเกิดปัญหา เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว คาดว่าส่งผลให้การส่งออกปี 2566 น้อยกว่าปีนี้ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวแม้ไทยเริ่มเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จนคาดว่าปี 2565 อาจปิดตัวเลขที่ 10 ล้านคน แต่ปีหน้ายังต้องจับตาว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน

อีกปัจจัยที่ผู้ขึ้นเวทีสัมมนาเห็นพ้องกันไม่พ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนั้น กระจุกอยู่เพียงกลุ่มระดับกลางค่อนไปทางบน เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ที่เน้นจับตลาดบนยังไปได้ดี ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอี หรือภาคประชาชนผู้บริโภคทั่วไป แทบไม่ได้ประโยชน์โดยตรงจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวจากโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้กระจายไปทุกภาคส่วน

ส่วนการท่องเที่ยวแม้ปีนี้เชื่อว่าเริ่มฟื้นตัว แต่หากมองไส้ในจักพบว่ามีเพียงบางจังหวัดเท่านั้นที่ได้อานิสงส์ เช่น กรุงเทพฯ หรือภูเก็ต ทว่าภาพรวมยังเงียบเหงา คนต่างจังหวัดจำนวนมากไม่รู้สึกว่าฟื้น ธุรกิจเอสเอ็มอียังกระเสือกกระสน ทั้งมีหลากปัญหารุมเร้าไม่ว่าเรื่องแหล่งเงินทุน ราคาพลังงาน และดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งเหล่านักการเงินประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 รอบในปีนี้ ครั้งละ 0.25% ไปจบที่ 1.25% จากปัจจุบัน 0.75%

ที่น่าห่วงคือกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะเป็นเศรษฐกิจฐานรากรวมถึงเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่สุดของประเทศ ตอนนี้จำนวนไม่น้อยเริ่มล้มหมอนนอนเสื่อ การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อมาพยุงธุรกิจยากยิ่งกว่ายาก ภาครัฐจึงอย่าเพิ่งวางใจเพียงเห็นตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะสิ่งที่เห็นอาจเสมือนภาพลวงตา จนละเลยภัยแฝงเร้นที่ซุกซ่อนอยู่