การเมืองเขย่าเศรษฐกิจ

Photo by Jack TAYLOR / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เรื่องใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่พ้นกรณีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มีมติรับคำร้องที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้าชื่อ 171 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลง

เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลา (8 ปี) ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งมีมติเสียงข้างมาก 5 : 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

แม้กระแสจะออกมาหลายทางเกี่ยวกับการนับอายุเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเสียงแตกว่าควรจะเริ่มนับเวลาจากช่วงไหน แน่นอนว่าฝ่ายหนุนรัฐบาลยืนยันว่ายังไม่ครบ 8 ปี ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าต้องนับตั้งแต่วันแรกที่ดำรงตำแหน่ง หลังจากโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นเรื่องต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเมื่อคำตัดสินออกมาแล้ว จะเกิดเหตุอะไรตามมาอีกหรือไม่

ในส่วนของภาคธุรกิจนั้นเหมือนจะมองอยู่ห่าง ๆ เพราะหลายคนออกมาแสดงความเห็นทำนองไม่ว่าการเมืองไทยจะเดินไปทางไหน ภาคเอกชนต้องเดินหน้าดำเนินธุรกิจต่อไป เพราะที่ผ่านมาแทบไม่ได้หวังพึ่งการช่วยเหลือจากรัฐบาลมากนัก

อีกประเด็นที่ร้อนแรงพอ ๆ กับการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ คือผลสำรวจหนี้ครัวเรือนไทยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าพุ่งสูงถึง 14.97 ล้านล้านบาท หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ราว 5 แสนบาท คิดเป็น 89.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี สูงสุดในรอบ 16 ปี

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าในทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบคิดเป็นสัดส่วน 79% หนี้นอกระบบ 21% อย่างไรก็ตาม มูลค่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจเป็นข้อจำกัดทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ลำบาก การกดตัวเลขหนี้ให้ลดลงเหลือระดับ 80% ต่อจีดีพียิ่งทำได้ยาก เพราะไทยต้องเติบโตสูงถึง 6.2% ต่อเนื่อง 5 ปี ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจช่วงขาลง

การแก้หนี้ครัวเรือนนั้นภาครัฐพยายามดำเนินการหลากหลายรูปแบบ แต่สถานการณ์เหมือนทรง ๆ ทรุด ๆ แม้บางไตรมาสตัวเลขหนี้เมื่อเทียบจีดีพีจะลดลงแต่เป็นเพียงชั่วคราว ตัวเลขที่ออกมาจึงน่ากังวลไม่น้อย

นี่ยังไม่นับตัวเลขหนี้สาธารณะที่พุ่งไม่หยุด เพราะ 8 ปีของรัฐบาลชุดปัจจุบัน หนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นเกือบเท่ากับหนี้สะสมของทุกรัฐบาล ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 รวมกัน