สร้างภูมิคุ้มกันรับค่าบาทแข็ง

บทบรรณาธิการ

หลังเงินบาทแข็งค่าทำลายสถิติในรอบ 40 เดือน ที่ 31.91 บาท/ดอลลาร์ ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก ทำให้ภาคเอกชนเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการส่งออกและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

แต่เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทมาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ กระแสเงินทุนไหลเข้าเอเชียรวมถึงไทย กับการเก็งกำไรค่าบาทจากนักเก็งกำไรทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ที่ทำได้คือการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศที่หนุนให้ค่าบาทแข็ง คือดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้น เห็นได้จากช่วงปลายปี 2560 ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2.02 แสนล้านเหรียญดอลลาร์ เทียบกับปลายปี 2559 ที่ 1.71 แสนล้านดอลลาร์

สวนทางกับการดูแลค่าเงินบาทซึ่งเวลานี้หน่วยงานที่ดูแลโดยตรง อย่าง ธปท. บริหารจัดการได้ไม่เต็มที่มากนัก สะท้อนจากรายงานของสื่อต่างชาติ ที่ระบุว่าธนาคารกลางของไทยถูกทางการสหรัฐจับตามอง และเสี่ยงถูกขึ้นบัญชีดำ จากการเข้าซื้อเงินดอลลาร์เพื่อดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่า

แม้ ธปท.จะยืนยันว่าไม่ได้แทรกแซงตลาดหรือบิดเบือนค่าเงิน และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องบริการจัดการค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป เพื่อลดผลกระทบและให้ผู้ส่งออกกับเอสเอ็มอีปรับตัว

พร้อมย้ำว่า การเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ได้มีวัตถุประสงค์สร้างความได้เปรียบทางการค้า แต่มุ่งดูแลค่าบาทให้มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปการบริหารจัดการจะยิ่งยากและท้าทายมากขึ้น

ผู้ส่งออก รวมทั้งเอสเอ็มอีไทย จึงต้องตระหนักและหาทางป้องกันความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบและความเสียหายไว้ล่วงหน้า เพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่มีอยู่เดิมและจะทะยอยออกมา

ทางเลือกหนึ่งคือ ทำตามคำแนะนำของ ธปท.ที่ให้ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และทำสัญญาซื้อขายสินค้าในรูปเงินบาท หรือเงินสกุลประเทศคู่ค้าที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาท แทนการใช้เงินดอลลาร์

ขณะเดียวกันภายใต้สถานการณ์ที่บาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง เอสเอ็มอีกับสินค้าเกษตรถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ แนวทางหนึ่งที่คือสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการให้ความรู้สร้างความเข้าใจเพื่อลดผลกระทบและความเสี่ยงไม่ให้เสียหายภายหลังอบ