เศรษฐกิจยังน่าห่วง

คนอีสานมีแนวโน้มใช้จ่ายมากขึ้น เพราะคนย้ายกลับภูมิลำเนา
บทนำ

เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกต้องจับตามอง กับการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา โดยพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ เนื่องจากสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ เป็นหนึ่งในประเทศยักษ์ใหญ่ของยุโรป การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมถูกจับตามองในหลากหลายมุม

หันมาดูประเทศไทยยังประสบปัญหามากมายที่รุมเร้าเข้ามา ล่าสุดไม่พ้นสถานการณ์ฝนถล่มเกิดน้ำท่วม หรือน้ำรอระบายทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองใหญ่มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ ยิ่งซ้ำเติมปัญหาด้านการจับจ่าย เนื่องจากรายได้ส่วนหนึ่งต้องนำไปซ่อมแซมที่พักอาศัยหรือพาหนะ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่นับการเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เพราะยังมีฝนและน้ำเหนือตามมาอีกหลายระลอก

ลำพังก่อนหน้านี้คนไทยพยายามระมัดระวังในการใช้ชีวิต จากผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องปิดเมือง หลายธุรกิจล้มหายตายจาก ส่งผลรายได้ในภาพรวมลดลง ตามมาด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกด้วยการเตรียมขยับค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อมาเจอปัญหาจากธรรมชาติจึงยิ่งทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะงักงันเข้าไปอีก

เห็นได้จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก จัดทำโดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการยังกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่การจับจ่ายของผู้บริโภคหลังปลดล็อกโควิด แม้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้นแต่การจับจ่ายกลับไม่เพิ่มอย่างมีนัย

การสำรวจพบว่าคนไทยมียอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จลดลง ขณะที่ความถี่ในการจับจ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งยอดขายสาขาเดิมปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย คาดว่าเกิดจากความกังวลต่อภาวะหนี้ครัวเรือน และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จึงมุ่งเน้นซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น

ถึงแม้ยอดขายโดยภาพรวมยังไม่กระเตื้องขึ้นมากเท่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการราว 80% วางแผนว่าก่อนสิ้นปีนี้ต้องขยับราคาสินค้าหรือบริการขึ้น 5-15% หรือมากกว่านั้นในบางธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายเพื่อส่งเสริมการบริโภคในประเทศ

น่ากังวลว่ารัฐบาลจะมีเครื่องมืออะไรออกมาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เน้นใช้วิธีกู้เงินอย่างเดียว และทำได้เพียงประคองสถานการณ์เท่านั้น เมื่อมาเจอวิกฤตรุมเร้าซ้ำอีก น่าสนใจว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันที่บริหารประเทศมา 8 ปีเศษ จะมีวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจเพื่อรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากน้อยขนาดไหน