อาหารสนามบินเมืองไทย “แพงเว่อร์” จริงหรือ ?

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า


กลายเป็นประเด็นข่าวฮอตต่อเนื่องกันมาตลอด 2 สัปดาห์แล้ว สำหรับประเด็นเรื่องราคาอาหารในสนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ” ของไทยที่สื่อต่างชาติระบุว่า “แพง” มาก

ทำเอาทั้ง รมว.กระทรวงคมนาคมและ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ นั่งกันไม่ติดแท็กทีมลงพื้นที่สำรวจราคาอาหารในสนามบินทั้ง 2 แห่งทันที

และที่เจ็บหนักสุดนั้นน่าจะเป็น “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รมว.ท่องเที่ยวฯ ที่ถูกโจมตีอย่างหนักในสื่อโซเชียลกับวาทกรรมที่ว่า “แพงก็อย่ากิน” ซึ่งคนในโลกออนไลน์ต่างก่นด่าว่าเป็นรัฐมนตรีแก้ปัญหาได้แค่นี้เองหรือ ? และอีกมากมายหลายสารพัดความเห็น…

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือว่า…ประเด็นอาหารในสนามบินแพงนั้นได้ถูกพูดถึงกันมาหลายครั้งมาก โดยเฉพาะที่สุวรรณภูมิที่มีการเปิดประเด็นกันว่า “น้ำ” ขายกันราคาสูงถึง 80 บาทก็มีให้เห็นมาแล้ว แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบไป…

กระทั่งกลับมาตื่นกันอีกรอบเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะถูกสื่อต่างประเทศประจานว่าอาหาร น้ำดื่ม ที่สนามบินหลักของไทยนั้นแพงมาก และกลายเป็นประเด็นที่นำไปถกกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมากันเลยทีเดียวเชียว

ในมุมของผู้เขียนเองที่พอจะคุ้นเคยกับการใช้บริการสนามบินทั้ง 2 แห่งนี้

ถ้าถามว่า…ราคาอาหารในสนามบินทั้ง 21 แห่งของไทยนั้นแพงเว่อร์ตามที่เป็นข่าวไหม ? ตอบเลยว่า “ไม่ได้แพงเว่อร์” จนรับไม่ได้ เพราะหากดูราคาร้านอาหารที่อยู่บริเวณชั้นผู้โดยสารขาออก หลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แล้ว

ส่วนใหญ่มีให้เลือกตั้งแต่ราคาเฉลี่ยที่ราว 180-300 กว่าบาท หากเทียบกับสนามบินอื่นในภูมิภาคนี้ถือว่าไม่ต่างกันนัก

แต่ถ้าหากใครต้องการอาหารที่ราคาประหยัดหน่อย ก่อนเช็กอินหรือหลังเช็กอินแล้วก็สามารถหารับประทานได้จากร้านอาหารที่อยู่ในโซนต่าง ๆ เช่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิก็จะมีร้านอาหารที่อยู่ชั้นล่างสุด (ชั้นเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์) ที่มีทั้งร้านอาหารทั่วไป

รวมถึงเซเว่นอีเลฟเว่น หรือโซนที่เป็นฟู้ดคอร์ต ชั้น 1 (ชั้นบริการรถสาธารณะ) หรือบริเวณชั้น 3 ของอาคารผู้โดยสาร

หรือที่สนามบินดอนเมืองหากต้องการอาหารราคาประหยัดจะมีให้เลือกเยอะมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ทั้งส่วนที่เป็นฟู้ดคอร์ต และร้านอาหารทั่วไป หรือแม้แต่เลานจ์กลางของเอกชนก็ให้บริการอาหารแบบบุฟเฟต์ รวมเครื่องดื่มในราคาที่ประมาณ 250-300 บาทเท่านั้น

เรียกว่าผู้โดยสารที่เดินทางผ่านเข้าออกทั้ง 2 สนามบินนั้นมี “ทางเลือก” เยอะมาก ตั้งแต่อาหารจานละ 40-50 บาท ไปจนถึง 200-300 บาท

ที่สำคัญ อาหารในสนามบินบางโซนมีราคาที่ถูกกว่าอาหารที่ให้บริการบนเครื่องบินของสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ด้วยซ้ำ

ดังนั้น คำว่า “ถูก-แพง” นั้นน่าจะขึ้นอยู่กับว่าผู้โดยสารแต่ละคนใช้เกณฑ์อะไรมาวัด และใครเป็นคนพูดมากกว่า คนที่มีกำลังซื้อสูงเจออาหารจานละ 200-300 บาท อาจมองเป็นเรื่องธรรมดา รับได้ แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีกำลังซื้อพอมาเจออาหารระดับราคาประมาณนี้ก็ต้องบอกว่า “แพง”

บางคนมองว่าค่าเช่าพื้นที่แพง ร้านอาหารก็ต้องขายแพงเป็นเรื่องธรรมดา…ข้อนี้ก็จริง ปฏิเสธไม่ได้ เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่าค่าเช่าพื้นที่ในสนามบินนั้นมีจำกัด และแพงกว่าตามศูนย์การค้าทั่ว ๆ ไปแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะแพงแค่ไหนก็มีคนอยากได้ทั้งนั้น

เพราะอะไร…ก็เพราะว่า สนามบินเป็นสถานที่ที่ผู้คนใช้บริการเป็นจำนวนมาก มีตลาดและกลุ่มเป้าหมายชัดเจน อย่างในปี 2560 ที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 59.08 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง

ขณะที่สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารใช้บริการถึง 37.18 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อรองลงมา เพราะเป็นโลว์คอสต์แอร์พอร์ต

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังมองว่า เกณฑ์การกำหนดราคาขายสินค้าของผู้ประกอบการนั้นพวกเขาคงมีหลากหลาย

ตัวแปรที่ต้องนำมาคำนวณอย่างละเอียด ทั้งค่าเช่าพื้นที่ ค่าแรงงานพนักงาน กลุ่มเป้าหมาย จุดคุ้มทุน ฯลฯ

เพราะตามหลักดีมานด์-ซัพพลายแล้ว หากขายแพงเกินกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายก็คงขายไม่ได้

ดังนั้น เมื่อต้นทุนแต่ละแห่งต่างกัน ราคาสินค้าในสนามบินแต่ละแห่งก็ไม่สามารถกำหนดราคาให้ขายเท่ากันได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผู้บริโภคเองก็ควรเปิดใจกว้างยอมรับให้ได้ด้วยเช่นกัน