แก้ปม “ยาง-น้ำตาล” อย่าสร้างปัญหาซ้ำ

บทบรรณาธิการ

นอกจากจะดูแลผู้มีรายได้น้อยให้หลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการเฟสที่สองแล้ว ในส่วนของสินค้าเกษตรปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าจะเร่งแก้ปัญหาพืชผลราคาตกต่ำให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

เริ่มจากพืชเกษตรเศรษฐกิจหลักอย่างอ้อยและน้ำตาลกับยางพารา ที่รัฐกำลังปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ รื้อระบบการผลิต การค้าอ้อยและน้ำตาล ให้สอดรับกฎกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) ขณะเดียวกันก็เพิ่มมาตรการควบคุมดูแลยางพารา แก้ปัญหาชาวสวนยางถูกพ่อค้าเอารัดเอาเปรียบ รับซื้อผลผลิตในราคาที่ไม่เป็นธรรม

ในส่วนของอ้อยและน้ำตาลนั้น 15 ม.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 1/2561 แก้ไขกฎหมายรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ให้ราคาน้ำตาลลอยตัว

ขณะที่ยางพาราซึ่งราคาดิ่งลงต่อเนื่อง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 16 ม.ค. 2561 มีมติเห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการสต๊อกยาง

ทั้งสองกรณีมาจากเจตนาดีของรัฐบาลที่ต้องการจะสางปัญหาที่คั่งค้างมาตั้งแต่ปี 2560 ที่ถูกกล่าวหาจากบราซิลว่า ไทยอุดหนุนการผลิตอ้อยและน้ำตาล ส่วนการแก้ปัญหาราคายางนั้นคาดหวังว่า เมื่อยางพาราอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม จะทำให้รัฐมีข้อมูลสต๊อกยาง สามารถบริหารจัดการปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

ผลในทางปฏิบัติจะเป็นไปอย่างที่รัฐคาดหวังหรือไม่ ยังต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพฝุ่นตลบกำลังเกิดขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ธุรกิจเครื่องดื่ม อาหาร ที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิต ไม่ต่างไปจากกรณียางพารา ที่เวลานี้ชาวสวนยาง พ่อค้า ผู้ส่งออกยาง แม้กระทั่งนักวิชาการต่างอยู่ในสภาพมึนงง เพราะมองไม่ออก และคาดเดาไม่ถูกว่ารัฐจะนำเครื่องมือกลไกใดมาใช้หนุนให้ราคายางภายในประเทศขยับขึ้น ขณะที่ราคายางในตลาดโลกยังอยู่ในระดับที่ต่ำ

ที่สำคัญ หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า ถ้าหากระเบียบ กฎหมายที่ถูกนำมาใช้บังคับไม่ได้ตอบโจทย์ หรือช่วยให้รัฐบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการปัญหาที่ต้องเร่งแก้ได้ตรงจุดจริง แต่กลับก่อให้เกิดความยุ่งยากล่าช้า แทนที่จะส่งผลดีก็อาจจะสร้างปัญหา ทำให้ภาคธุรกิจ ชาวไร่อ้อย ชาวสวนยาง รวมทั้งผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากขึ้นอีก