Bitcoin เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น

คอลัมน์ Redpillz

โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.Redpillz.com

“บิตคอยน์” bitcoin ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงหาเงินก่อนเข้าเทศกาลปีใหม่ เพราะหลายคนต้องใช้เงินช่วงนั้นมาก เลยทำให้การหยิบยกเรื่อง bitcoin มาพูด ดูเหมือนจะหนักไปในทางนำมาเก็บไว้ในรูปของทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ แต่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเร็วมาก มากเสียจนคนเล่นหุ้นยังต้องย้ายเงินมาลงทุน บางคนได้ บางคนเสีย ตามความสามารถในการอ่านจังหวะมูลค่าและคุณค่าของตัว bitcoin เอง

สำหรับผมแล้ว มองว่า bitcoin เป็นแค่สิ่งที่คนเราร่วมสร้างมูลค่าของมันขึ้นมา จากการที่เรียกว่า “ขุด” หรือการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ พอขุดเสร็จออกมาก็จะได้เป็น token เพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ประกอบกับเริ่มมีคนให้มูลค่ากับมันมากขึ้น โดยสามารถรับชำระสินค้าและบริการได้ เหรียญบิตคอยน์ที่ได้มาจึงมีมูลค่า และเมื่อมีมูลค่าเกิดขึ้น มีการเข้ามาแลกเปลี่ยน มันก็จะเกิดเป็น “กำไร” และกำไรตัวนี้ทำให้เกิดการต่อยอดไปเป็นสิ่งที่เรียกว่า “currency” หรือแปลได้ว่า “เงินตรา”

ใครเคยดูหนังเรื่อง The Wolf Of Wall Street ไหมครับ ที่ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เล่นเป็น จอร์แดน เบลฟอร์ต นักขาย pink stock มือฉมัง ผู้ซึ่งตอนหลังโดนฟ้องและโดนจับติดคุกอยู่พักหนึ่ง สุดท้ายก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับทาง CNN ว่า bitcoin นั้น เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะมีเหรียญ crypto ออกมามากมาย ทำให้ตลาดจะอันตรายมาก เพราะตัวปลอมจะเยอะมาก

คำว่า “ระวัง” นี้อาจจะต้องตีความให้ลึกกันหน่อย เพราะแม้แต่ในตลาด คนที่ค้าเหรียญกันเองตอนนี้ยังมีข่าวลือซ้อนข่าวลืออีกทีหนึ่ง ก่อนจะไปไกลกว่านี้ ผมไม่อยากให้ทุกคนนั่งหมกมุ่นแต่การเก็งกำไร แต่อยากให้ศึกษาให้ลึกขึ้นว่า bitcoin จริง ๆ นั้น เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่เล็กมากของ blockchain technology ที่เก็บ contract ในลักษณะกระจายตัวออกไป หรือ decentralization

เปรียบเปรยให้ฟังง่าย ๆ อย่างนี้ว่า ถ้าคุณจะโอนเงินให้เพื่อน คุณต้องโอนผ่านธนาคาร ซึ่งธนาคารคือ trust keeper ที่ทำการช่วยคุณรับประกันว่าเงินคุณจะไม่หายไปไหน และถึงมือเพื่อนแน่ ๆ

แต่ blockchain นั้น ทำการส่ง contract นี้ ไปหาคนที่อยู่ใน chain ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบว่าคุณใช่ไหมที่มีเงินนี้ ถ้าทุกคนตอบว่าใช่ ก็จะได้ไปต่อ ซึ่ง contract นี้ จะถูกบรรจุอยู่ใน block ต่อไปเลยทันที

แต่มีคำถามว่า ทำไมเงินตราชนิดนี้ ถึงโดนต่อต้านมากขนาดนี้ล่ะ ?

ก็ต้องเท้าความไปยาวเลยว่า ในอดีตกาลมนุษย์มักจะเอาของมีค่ามาแลกสินค้ากัน เช่น ทองคำแลกผ้าไหม หลังจากนั้นก็เป็นยุคของการใช้เงินตรา เช่น เงินเหรียญ มาเป็นธนบัตร จากธนบัตรเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถ้าเรามองกันดี ๆ สิ่งที่เราแลกเปลี่ยนจริง ๆ คือ trust หรือความเชื่อใจกันนั่นเอง

คนที่เข้ามากำหนดตรงนี้ คือคน (ที่ดูเหมือน) มีความน่าเชื่อถือและความมั่นคงสูงสุด นั่นคือรัฐบาลของแต่ละประเทศ โดยตีพิมพ์ธนบัตรออกมา โดยมีของมีค่าค้ำประกันอีกทีหนึ่ง เช่น ทองคำ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศไหนพิมพ์ธนบัตรเพลิน ก็จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เมื่อ bitcoin เกิดขึ้นมา นอกจากจะแลกเปลี่ยนมูลค่าแล้ว ยังเกิด trust ขึ้น ทำให้บิตคอยน์แย่งงานจากสองสถาบันทันที นั่นคือ สถาบันการเงิน และสถาบันรัฐ

แต่หากว่ากันตามจริงแล้ว หลัก ๆ บิตคอยน์ คือ people’s currency หรือ คนกำหนดกันเองและเชื่อกันเอง โดยผ่าน smart contract feature ของ blockchain technology

เพราะฉะนั้น คนที่เคยกำหนดเงินตราเดิม เขาจึงไม่ชอบใจอยู่แล้ว ทั้งในมุมธุรกิจที่ต้องโดนตัดตัวกลางออก และในมุมความมั่นคงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ความปลอดภัยจากการฟอกเงินต่าง ๆ ซึ่งสิ่งนี้คือการ disrupt technology เลยทำให้สถาบันการเงินเอกชนต้องออกมาเคลื่อนไหวและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการมองธุรกิจการเงินในอนาคตทันที แต่ก็มีบางสถาบันการเงินได้พยายามใช้ disruptive technology นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผมบอกได้เลยว่า bitcoin เป็นแค่ cryptocurrency ที่เปรียบเสมือน showroom ของ blockchain เท่านั้น หลังจากนี้ คุณจะได้เห็นคนนำ blockchain technology มาใช้กับการทำ smart contract อีกมากมาย

ต่อจากเรื่องของเงินตรา เช่น 1.การนำเงินเข้ามาแลกเปลี่ยนมูลค่ากันแบบข้ามสกุล 2.การนำสกุลเงินมาระดมทุนแบบ ICO (initial coin offering) คล้าย ๆ กับ IPO ของหุ้นบ้านเรา 3.ทำ smart right หรือกำหนดสิทธิ์ โดยปกติอาจจะมีตัวกลางกำหนด ตอนนี้ก็ไม่ต้องมีแล้ว 4.พอกำหนดสิทธิ์ได้ จะลามไปสู่การทำสัญญาต่าง ๆ ก็สามารถใช้ blockchain ได้อีก เช่น วงการประกันภัย เป็นต้น 5.พอทำสัญญามาก ๆ เข้า จะสามารถลงลึกไปสู่การกำหนดสิทธิ์และสัญญาแบบอัตโนมัติในอนาคต โดยที่ไม่ต้องมีตัวกลางใด ๆ ทั้งสิ้นมาควบคุม

มาถึงจุดนี้ คงไม่ต้องบอกแล้วว่าทำไม bitcoin จึงเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ถ้าใครอ่านจบแล้วยังอยากจะกระโจนเข้ามาในโลกของเหรียญ crypto ขอความกรุณาศึกษาให้เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งเสียก่อนว่า สิ่งที่คุณกระโจนเข้าไปคืออะไร มีระบบการทำงานยังไง จะขึ้น-ลงจากปัจจัยอะไร


กรุณาศึกษากลไกของมันให้ลึก ศึกษาตลาดให้ทะลุ แล้วค่อยคิดทำการครับ วันนี้มาปูพื้นให้ฟังครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นการวิเคราะห์การเงินไปครับ ชาว Redpillz ทั้งหลาย