Plan 75 : ทางแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยในญี่ปุ่น ?

Plan 75
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ 
        Bnomics : ธนาคารกรุงเทพ

Plan 75 คือหนังที่ได้รับรางวัล Un Certain Regard และถูกพูดถึงอย่างมากในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ล่าสุดยังได้เป็นตัวแทนหนังญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลออสการ์ 2023

โดยหนังเล่าถึงอนาคตสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันจนทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐจึงออกมาตรการให้คนที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปที่ประสงค์จบชีวิตตัวเอง สามารถมาลงทะเบียนเลือกวันจบชีวิตได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจะได้รับเงิน 1 แสนเยน ไว้ใช้ทำอะไรก็ได้ก่อนจบชีวิตลง ถือเป็นค่าตอบแทนที่พวกเขายอมเสียสละเพื่อประเทศ

บทความนี้ Bnomics จึงอยากจะมาเล่าให้ฟังว่า ทำไมญี่ปุ่นถึงกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว แล้วในอนาคตอาจจะต้องมีนโยบายแบบในหนัง Plan 75 ออกมาใช้หรือไม่ ?

ทำไมญี่ปุ่นเข้าสังคมสูงวัยรวดเร็ว

สัดส่วนของประชากรสูงวัยในญี่ปุ่น เริ่มเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 1950 กระทั่งในปี 2021 ผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 65 ปี ในญี่ปุ่น สูงที่สุดแตะระดับ 36.4 ล้านคน

โดยสัดส่วนของผู้สูงวัยคิดเป็น 29.1% ของประชากรประเทศ ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และคาดว่าในปี 2040 ญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนผู้สูงวัยถึง 35.3% เนื่องจากเป็นช่วงที่เหล่าเบบี้บูมเมอร์ อายุ 65 ปีพอดี

วิกฤตสังคมสูงวัยของญี่ปุ่นเกิดจากปัจจัยหลัก ๆ 2 อย่าง คือ 1) อายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2019 อายุเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นอยู่ที่ 87.45 ปี สำหรับผู้หญิง และ 81.41 ปี สำหรับผู้ชาย

2) อัตราการเจริญพันธุ์ลดลง ในญี่ปุ่นยุคเบบี้บูมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่อยู่ราว ๆ 9-20 ปี

และนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 อัตราการเจริญพันธุ์ในญี่ปุ่นก็เริ่มลดลงต่ำกว่าอัตราการเกิดทดแทน ก่อนที่อัตรานี้จะลดลงเรื่อย ๆ จนทำให้หลังทศวรรษ 2010 ประชากรญี่ปุ่นเริ่มลดลง ประกอบกับคนญี่ปุ่นแต่งงานน้อยลง และอายุเฉลี่ยแต่งงานครั้งแรกสูงขึ้น

เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้หญิงนิยมแต่งงานกับผู้ชายที่มีหน้าที่การงานมั่นคง และมีการศึกษาสูงกว่าตนเอง แต่ปัจจุบันงานที่มั่นคงตลอดชีวิตนั้นหาได้ยากขึ้น

นอกจากนี้ วัฒนธรรมญี่ปุ่นยังมักจะโยนภาระภายในบ้านให้ผู้หญิงรับผิดชอบ การแต่งงานหรือมีลูกจึงอาจเป็นการเพิ่มหน้าที่ภรรยาและหน้าที่แม่ให้ต้องรับผิดชอบไปพร้อม ๆ กับการทำงานนอกบ้าน ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่ค่อยสนใจการแต่งงาน

ตลาดแรงงานเต็มไปด้วยสูงวัย

เมื่อคนเกิดใหม่น้อยลง คนที่จะเข้าวัยแรงงานก็น้อยลง ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่สัดส่วนระหว่างคนสูงอายุต่อวัยแรงงานสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD

โดยอัตราส่วนการพึ่งพิง (age dependency ratio) ในปี 2018 อยู่ที่ 47.1% หมายถึงจะมีคนนอกวัยแรงงานราว 47 คนที่ต้องการการพึ่งพิง ต่อประชากรวัยแรงงาน 100 คน และคาดว่าในปี 2060 ประชากรวัยแรงงาน 1 คน จะต้องแบกรับผู้สูงอายุ 1 คน ทำให้ตลาดแรงงานของญี่ปุ่น เต็มไปด้วยคนสูงวัย มีคนรุ่นใหม่เข้าไปน้อยลง ๆ

ปัจจุบันหลาย ๆ บริษัทเริ่มมีนโยบายจ้างพนักงานที่เกษียณอายุแล้ว รัฐบาลจึงเริ่มวางแผนที่จะปรับกฎหมายให้พนักงานสามารถทำงานต่อได้จนกว่าจะอายุ 70 ปี ซึ่งจากสถิติพบว่า ในปี 2020 มีแรงงานที่อายุเกิน 65 ปี อยู่ถึงเกือบ 9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 13.3% ของแรงงานทั้งหมด

ส่งผลให้อายุเฉลี่ยที่คนออกจากระบบแรงงานกลายเป็นอายุ 71 ปี สำหรับผู้ชาย และอายุ 69 ปี สำหรับผู้หญิง

ภาระการคลังเมื่อมีแต่คนสูงวัย

ลองคิดดูว่าคนคนหนึ่ง ทำงานตั้งแต่อายุ 20 ไปจนถึง 60 ปี เท่ากับระยะเวลาทำงานจ่ายภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนบำนาญ คือ 40 ปี ถ้าหลังจากเกษียณไปแล้วยังมีชีวิตต่ออีก 30 ปี ระหว่างนั้นไม่ได้ทำงาน แต่ยังรับเงินบำนาญ

และใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลขณะที่แรงงานรุ่นใหม่ ๆ ที่ช่วยกันส่งเงินเข้ากองทุนบำนาญลดลง แค่นี้ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ ว่าเงินกองทุนจะสามารถใช้ไปได้อีกนานแค่ไหน และรัฐจะทำอย่างไรกับงบฯสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นทุกปี

ในปี 2018 งบประมาณรายจ่ายรัฐของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ คิดเป็น 10.9% ของ GDP และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.1% ในปี 2030 ประมาณการว่ารัฐต้องมีรายจ่ายด้านสุขภาพเฉลี่ย 337,000 เยน ต่อประชากร 1 คน และหลังจากอายุ 75 ปีขึ้นไป จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า

อีกทั้งยังมีปัญหาว่าผู้สูงอายุที่ยากจนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหญิงชรา ในปี 2018 อัตราผู้อายุ 65 ปีขึ้นไปที่ยากจน คิดเป็น 19.6% เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD อยู่ที่ 13.5% ทำให้เกิดกรณีที่ผู้สูงอายุญี่ปุ่นลักเล็กขโมยน้อยเพื่อให้ถูกส่งเข้าคุก หรือผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวและเสียชีวิตเพียงลำพัง

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มเล็งเห็นถึงปัญหาสังคมสูงวัย และในปี 1994 รัฐบาลได้ออก Angel Plan ช่วยเหลือครอบครัวที่จะมีลูก เพิ่มบริการดูแลเด็ก ส่งเสริมนโยบายลาไปเลี้ยงลูก รวมถึงให้เงินอุดหนุนการเลี้ยงลูก เพื่อหวังจะเพิ่มจำนวนประชากรแต่ก็ดูเหมือนว่าผลตอบรับยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร

ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นยังเต็มไปด้วยประชากรสูงวัยที่มากขึ้นเรื่อย ๆ และเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อย ๆ จนเริ่มฉายแววให้เห็นปัญหางบประมาณการคลัง

ถ้าใช้หลักคณิตศาสตร์ เมื่อเพิ่มคนเกิดไม่ได้ เราก็อาจจะเปลี่ยนไปเพิ่มจำนวนคนตายแทน แต่ในความเป็นจริงเราคงยังไม่สามารถมีนโยบายแบบในหนังเรื่อง Plan 75 ได้ หรือต่อให้มี ก็คงจะกลายเป็นที่ถกเถียงในประเด็นมนุษยธรรมว่า คนที่มีอายุเกิน 75 ปี ไม่ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่หรือ ?

ดังนั้น สิ่งที่อาจจะพอเป็นไปได้คืออาจต้องมีการเร่งส่งเสริมการออม และการซื้อประกันชีวิตตั้งแต่วัยทำงาน เสริมสร้างค่านิยมดูแลสุขภาพที่ดี เพื่อวันข้างหน้า คนสูงวัยจำนวนมากจะไม่ต้องกลายเป็นประชากรที่ต้องพึ่งพิงงบประมาณรัฐ แต่เป็นสูงวัยที่มากด้วยประสบการณ์ และยังสามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แล้วคุณล่ะ คิดเห็นกับเรื่องนี้ยังไง ?