ฝนร้อยปี ปัญหาร้อยแปด

น้ำท่วมกรุงเทพ
บทบรรณาธิการ

สถานการณ์ฝนตกหนักขึ้นและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย เป็นสัญญาณตอกย้ำถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติแรงขึ้นและถี่ขึ้น เช่นเดียวกับในต่างประเทศ โดยเฉพาะปากีสถานเผชิญมหาอุทกภัยที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 1,400 ราย ส่วนยุโรปและอเมริกาประสบคลื่นความร้อนที่ไม่ปกติ

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ค่าเฉลี่ยฝนของไทยตลอดทั้งปี 2565 ว่าจะมากกว่าปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ที่ 6% แต่ถึงเดือนสิงหาคม กลับพบว่าปริมาณฝนเกินค่าเฉลี่ย 30 ปีไปแล้วที่ 16% สาเหตุหนึ่งมาจากปรากฏการณ์ลานิญา ซึ่งเกี่ยวกับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิก

กรมชลประทานระบุว่าลานิญาทำให้เกิดน้ำท่วม 3 น้ำคือ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน

แม้กรมชลประทานยืนยันว่า สถานการณ์น้ำปีนี้จะไม่เหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพราะจำนวนพายุไม่มากเท่า ปริมาณน้ำต่างกัน และ 4 เขื่อนหลักยังรับน้ำได้อีกหมื่นกว่าล้านลูกบาศก์เมตร ที่สำคัญคือมีบทเรียนปี 2554 ที่นำมาปรับใช้ เพื่อวางแผนและเตรียมความพร้อมได้

อย่างไรก็ตาม การเตรียมพร้อมอาจรองรับไม่ได้ อย่างกรณีกรุงเทพฯ เผชิญฝนตกหนักมาก โดยเฉพาะแถวบางเขน คืนวันที่ 6 ก.ย. มีฝนตกมากกว่า 170 ม.ม. หนักที่สุดในรอบร้อยกว่าปี จนน้ำในคลองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้การระบายน้ำพื้นที่ต่าง ๆ ทำได้ยาก

การแก้ไขปัญหาขณะนี้จึงต้องทำเฉพาะหน้าไปก่อน แต่ต่อไปจะต้องวางแผน วางผัง เหมือนกับการริเริ่มแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มรูปแบบ

โดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจที่พบว่าการขยายตัวของชุมชนเมืองไปขวางเส้นทางระบายน้ำ โดยไม่มีการวางผังเมือง และระบบบริหารจัดการน้ำ หรือบางแห่งมีแผนแล้ว แต่ไม่มีงบประมาณรัฐเข้าไปสนับสนุน

ธนาคารโลกเคยประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจไทยจากเหตุน้ำท่วมเมื่อปี 2554 สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2565 ยังไม่มีตัวเลขคำนวณเบื้องต้นออกมา แต่ที่ประเมินได้แล้วคือ ปัญหาร้อยแปดที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และต้องใช้งบประมาณสูงในการแก้ไข รวมถึงหาทางระบายน้ำที่ไม่ใช่เส้นทางธรรมชาติ

หากพิจารณาความรุนแรงของสภาพอากาศที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีก และอาจหนักกว่าเดิม จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของประชาชนและผู้บริหารเมืองในทุกพื้นที่ต้องบริหารจัดการกับปัญหาในปัจจุบัน และเตรียมแผนที่พร้อมสำหรับรับมือสภาพอากาศในอนาคตที่พร้อมจะทำลายสถิติร้อยปี