วิกฤตค่าเงิน-ดอกเบี้ย

Jerome Powell (Photo by SAUL LOEB / AFP)
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

แม้จะเตรียมอกเตรียมใจไว้แล้ว แต่เมื่อธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ประกาศขึ้นดอกเบี้ยรอบล่าสุดอีก 0.75% นับเป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ ไปอยู่ที่ 3.00-3.25% พลอยทำให้ตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกสั่นสะท้านตาม ๆ กัน ยิ่งเมื่อ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยต้องปรับขึ้นอีก 2 รอบเพื่อสู้เงินเฟ้อ คาดว่าถึงสิ้นปีดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะอยู่ที่ 4.25-4.50%

ส่วนผลกระทบกับไทยคล้ายกับหลายประเทศทั่วโลก ที่ค่าเงินอ่อนยวบทันทีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ก่อนการประกาศของเฟด ค่าเงินบาทของไทยลงไปแตะจุดต่ำสุดเกิน 37 บาท/ดอลลาร์ พอเฟดขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาทรูดลงไปอีกที่ 37 บาทกว่า ๆ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญการเงินของไทยกังวลว่าอาจหลุดไปถึง 38 บาท/ดอลลาร์

ในแง่ดีของค่าเงินบาทอ่อน ช่วยเรื่องส่งออกและภาคท่องเที่ยว ซึ่งภาคท่องเที่ยวและส่งออกอาจช่วยพยุงค่าเงินบาทได้ระดับหนึ่ง ยิ่งมีแรงหนุนจากการประกาศให้โควิด-19 ลดระดับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จากเดิมโรคติดต่ออันตราย ทั้งปลดล็อกการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไม่ต้องตรวจเข้มงวด มีผลวันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น

แต่แน่นอนว่าข้อเสียก็ไม่ใช่น้อย เพราะการนำเข้าสินค้าจะมีราคาแพง โดยเฉพาะพลังงานที่ไทยนำเข้าปีหนึ่ง ๆ เป็นเงินมหาศาล ไม่ใช่กระทบเพียงผู้ใช้รถเติมน้ำมันหรือก๊าซเท่านั้น แต่ส่งผลถึงประชาชนทุกคนในประเทศจากราคาค่าไฟฟ้าที่จะแพงขึ้น เพราะปัจจุบันหลังปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที กลายเป็นค่าไฟฟ้าปัจจุบันเฉลี่ยหน่วยละ 4.72 บาท เมื่อถึงการพิจารณารอบถัดไปจะขยับไปอีกหรือไม่

นอกจากนี้สินค้าต่าง ๆ ที่ต้องใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ มีต้นทุนแพงขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด หรือบางส่วน ต้องผลักภาระมาสู่ผู้บริโภค ซึ่งในปี 2565 คนไทยกระอักจากราคาสินค้าและบริการปรับขึ้นหลายครั้ง จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา

อีกส่วนที่ต้องจับตาคือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งถัดไปน่าจะขยับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เท่าครั้งที่แล้ว ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1% และอาจขึ้นอีกครั้งช่วงปลายปีจบที่ 1.25% ยังไม่แน่ชัดว่าจะพอหรือไม่กับการสกัดเงินเฟ้อ หรือเงินทุนไหลออก เพราะดอกเบี้ยไทยและสหรัฐนั้นมีระยะห่างมากพอสมควร

เหนือสิ่งอื่นใดดอกเบี้ยที่จะขยับขึ้นครั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่อั้นมาตั้งแต่คราวที่แล้ว ส่งสัญญาณปรับขึ้นทั้งเงินกู้และเงินฝาก โดยเฉพาะฝั่งลูกหนี้ที่ใช้ระบบดอกเบี้ยลอยตัว เช่นผ่อนบ้าน ต้องปรับตัวมากขึ้น และรัฐควรเข้ามาดูแลกลุ่มเปราะบาง เพราะการขึ้นดอกเบี้ยยังไม่หยุดง่าย ๆ ประเมินว่าไทยอาจต้องขยับดอกเบี้ยเพิ่มอีกในช่วงต้นปีหน้า ทุกฝ่ายจึงต้องตั้งรับวิกฤตค่าเงินอ่อนค่า และดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างจริงจัง