พายุ Recession

พายุ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สันติ จิรพรพนิต

เริ่มมีสัญญาณชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าโลกกำลังนับถอยหลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession)

ที่เห็นชัด ๆ ไม่พ้นราคาน้ำมันและทองคำที่ดิ่งลง จากความกังวลว่าในช่วงปลายปี หรือต้นปี 2566 เศรษฐกิจทั่วโลกจะเกิดปัญญา

แต่เดิมประเมินกันว่าสหรัฐอเมริกา น่าจะโดนหนักเป็นรายแรก ๆ เพราะภาวะเงินเฟ้อที่สูงจัด ๆ จนธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ต้องขยับดอกเบี้ยแบบยาแรงครั้งละ 0.75% ติดต่อกันถึง 3 รอบ

โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยแบบดุดันครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรับขึ้น 0.75% ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยจำนวนมากที่สุดในรอบ 28 ปี

เรื่องของเรื่องเพราะตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ปิดที่ 8.2% สูงสุดในรอบ 40 ปี

แต่แม้จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกไปแล้ว แต่ยังกดตัวเลขเงินเฟ้อไม่ลง จนต้องปรับดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันอีก 2 รอบต่อเนื่อง

จนถึงสิ้นปีคาดว่าต้องปรับอีก 2 ครั้ง แต่หากตัวเลขเงินเฟ้อพอบรรเทาลงบ้างอาจไม่จำเป็นต้องขึ้น 0.75% ทุกครั้ง

แต่กระนั้นถึงสิ้นปีคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะไม่ต่ำกว่า 4%

ถ้าจะว่าไปแล้วหากนับนิยามของเศรษฐกิจถดถอย สหรัฐที่การเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำถึง 2 ไตรมาสติดต่อกัน รวมถึงการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถือว่าเข้าข่ายแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ส่วนการใช้ยาแรงด้วยการขึ้นดอกเบี้ยสูงอย่างต่อเนื่อง ในอดีตที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลายครั้ง และส่วนใหญ่สหรัฐหนีไม่พ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย กำลังเปลี่ยนไปที่ยุโรป เนื่องจากปัญหารัสเซียพยายามบุกยึดยูเครน จนนำมาสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลาย ๆ ประการ

หลัก ๆ คือไม่นำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ที่ถือว่าเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ให้ยุโรป

ผลที่ตามมากระทบกับยุโรปเอง ที่ราคาพลังงานปรับขึ้นสูงและต้องประหยัดกันสุดฤทธิ์

จนทำให้คนบางกลุ่มออกมาเหน็บ ทำนองว่าหาเรื่องเจ็บเอง

ทั้ง ๆ ที่ว่าไปแล้วถือว่าเป็นความจำเป็นที่ทั่วโลกไม่ควรเห็นด้วย และต้องมีมาตรการกดดันกับประเทศหนึ่งที่ตั้งใจบุกยึดประเทศอื่น ทั้ง ๆ ที่โลกพ้นจากการล่าอาณานิคม ล่าเมืองขึ้นมาเนิ่นนานแล้ว

ทั้งปัญหาพลังงาน บวกกับเกือบทุกประเทศยุโรปแห่ขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ยุโรปจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นกลุ่มแรก ๆ

ส่วนประเทศไทยที่โดนเงินเฟ้อถล่มไม่ต่างจากทั่วโลก และใช้มาตรการด้านดอกเบี้ยเช่นกัน เพียงแต่ปรับขึ้นไม่มากนัก

หากโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ไทยหนีไม่พ้นตกอยู่ในพายุลูกนี้เช่นกัน เพราะแม้เชื่อว่าภาคส่งออกและท่องเที่ยวจะได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า

แต่หากเศรษฐกิจโลกไม่สดใส การส่งออกและท่องเที่ยวย่อมได้รับผลกระทบ

ในทางกลับกันเงินบาทอ่อนทำให้ไทยต้องนำเข้าสินค้าราคาแพงกว่าปกติ ยังดีที่ช่วงนี้ราคาน้ำมันโลกทรงตัวในระดับไม่สูงมากนักเพราะกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลก

แต่เมื่อเข้าช่วงปลายปีที่ยุโรปต้องใช้พลังงานมากขึ้น บวกกับทิศทางเงินบาทยังอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ เหมือนที่ผ่านมา ไทยเราต้องกระทบไม่มากก็น้อย

ยิ่งหากการมาถึงของพายุ “recession” หรือเศรษฐกิจถดถอย ลุกลามไปทั่วโลก

ยังไม่นับเศรษฐกิจจีน ที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลกไม่สู้ดีนัก

เรียกว่าเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ประเดประดังเข้ามาพร้อม ๆ กัน ในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า

รัฐบาลไทยที่ถือว่าอยู่ในช่วงท้าย ๆ ของเทอมแล้ว จะวางแผนรับมือได้มากน้อยขนาดไหน


เพราะลำพังการตั้งความหวังไว้ที่ภาคส่งออกและท่องเที่ยว ถึงตอนนี้อาจไม่เพียงพอแล้ว