ภาคการลงทุนไทย (อาจ) ไม่ดีอย่างที่คิด

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ [email protected]

ตัวเลขเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการลงทุนในปีต่อจากนี้ไป (2561) อาจไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้เดิม หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งและมีการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากสัญญาณการเซตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองผ่านคำสั่ง คสช. 53/2560 ที่ระบุว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 ซึ่งพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก่อนหน้านั้นต้องเริ่มดําเนินการต่าง ๆ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด ส่วนบุคคลซึ่งประสงค์จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ก็ให้ยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้ โดยดําเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ

แต่เนื่องจากประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เรื่อง ให้ พ.ร.ป.บางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป และคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 ยังมีผลใช้บังคับ การดําเนินกิจกรรมทางการเมืองเช่นว่านี้ จึงยังไม่อาจกระทําได้ ผลจากการนี้ทําให้พรรคการเมืองทั้งที่จัดตั้งขึ้นแล้ว และกําลังเตรียมจะจัดตั้งขึ้นใหม่ อาจเกรงว่าหากไม่สามารถดําเนินการต่าง ๆ ได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด จะเป็นเหตุให้เสียสิทธิในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและการได้รับการจัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ดังนั้น จำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินเศรษฐกิจไทยใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังเดือนเมษายน 2561

คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป เคยประเมินตัวเลขจีดีพีและตัวเลขเศรษฐกิจของไทยปี 2561 ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะอยู่ที่ 4.1-4.7% อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.0-1.5% อัตราการขยายตัวการส่งออกอยู่ที่ 6-8%

โดยตั้งข้อสังเกตว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ จึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป

ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและทางการเมือง จะสามารถแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

การไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ สร้างความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง

ทำให้การเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือ อาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหม่ได้ อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุน คสช.ให้สืบทอดอำนาจ และฝ่ายยึดถือหลักการประชาธิปไตยก็หวั่นว่าเหตุการณ์ซ้ำรอยเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยภาพรวม

โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชาวบ้าน และภาคการลงทุนอาจได้รับผลกระทบรุนแรง

หากย้อนกลับไปศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองไทย เมื่อ 26-27 ปีที่แล้ว หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ตามด้วยเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านการสืบทอดอำนาจ รสช. จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 หลังจากนั้นไทยก็ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง มีรัฐบาลมากถึง 6 รัฐบาล (คณะรัฐมนตรีมากกว่า 10 ชุด)

ในช่วงเวลาสี่ปีกว่า ๆ อายุเฉลี่ยของรัฐบาลแต่ละชุดไม่ถึงหนึ่งปี และเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งที่นำมาสู่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 นอกเหนือจากปัญหาพื้นฐานเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง การไม่ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน การก่อหนี้ต่างประเทศและการลงทุนเกินตัว รวมทั้งภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความไม่ต่อเนื่องของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและความอ่อนแอ และไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลผสม

ทั้งหมดเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่ซ้ำเติมวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ให้รุนแรงยิ่งขึ้น แต่วิกฤตนี้ก็ได้ทำให้เกิดโอกาสและแรงกดดันให้การปฏิรูปทางการเมืองและนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการจัดการเลือกตั้งนั้น หากประเทศไทยสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยได้ตามกรอบเวลาจัดการเลือกตั้ง เบื้องต้นจะประกาศวันเลือกตั้งประมาณเดือนมิถุนายน 2561 และคาดว่าในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้ง

หากมีขึ้นในช่วงปลายปี 2561 อย่างน่าเชื่อถือ โปร่งใส และเป็นธรรม ทศวรรษข้างหน้าจะเป็นทศวรรษแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย และจะวางรากฐานสำคัญในการก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในระยะต่อไป

หากไทยประสบปัญหาในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย การจัดการเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือ มีการสืบทอดอำนาจโดยไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง และความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ความเสี่ยงนี้จะไม่ใช่ความเสี่ยงเฉพาะปี พ.ศ. 2561 เท่านั้น


ปัญหาอาจยืดเยื้อออกไปเป็นความเสี่ยงในระยะยาว ขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยจะร่วมหาทางออกปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมหรือไม่