ยึดบ้านผิดหลัง ออมสิน ทุบแบรนด์ตัวเอง

ยึดบ้าน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

เริ่มต้นเดือนตุลาฯ มหาโหด เราต่างผ่าน 3 เรื่องใหญ่ด้วยใจหดหู่

เรื่องแรก-วิกฤตคนเมือง ฝนฟ้าถล่ม น้ำท่วมทุกพื้นที่ แหล่งจ้างงานขนาดใหญ่กลายเป็น “ทะเลกรุงเทพฯ” ในพริบตา ทำเอาชีวิตทุลักทุเล

เรื่องสอง-คดีฆ่าหั่นศพสาวคนรัก โดยนายชาญวิทย์ เซลส์ขายอสังหาฯ ที่เลียนแบบจากหนังฆาตกรรม สะเทือนขวัญมาก สะท้อนความเสื่อมของสังคม รู้หน้าไม่รู้ใจ

เรื่องสาม-ยึดบ้านผิดหลัง จากกรณี “ธนาคารออมสิน” แบงก์รัฐที่อยู่เคียงข้างผู้ประกอบการรายย่อยและชาวบ้านรากหญ้า เป็นธนาคารขวัญใจของเด็กน้อย ซึ่งทำงานผิดพลาดอย่างน่าตกใจ

กลายเป็นประเด็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ที่น่าเหลือเชื่อ ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องจริง

เพราะการยึดบ้านผิดหลังก็เหมือนแต่งงานผิดคน บ่าวสาวมารู้ตัวอีกทีตอนเปิดหน้า คิดแล้วเหมือนหนังโจ๊กแบบเอาฮา เรียกว่าหัวเราะทั้งน้ำตากันเลยงานนี้

ที่สำคัญมาก ๆ คือเป็นกรณีศึกษา ที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบข้าราชการไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

เพราะอะไร ?

เพราะงานตรงหน้าคือ “บ้านทั้งหลัง” ซึ่งเป็นสินทรัพย์ขนาดใหญ่ และเคลื่อนที่ไม่ได้ มนุษย์ที่รับผิดชอบต้องลงพื้นที่ตรวจสอบทรัพย์ด้วยตัวเอง ทั้งจุดที่ตั้งและเอกสารหลักฐาน

แม้ว่าธนาคารจะว่าจ้างผู้รับเหมาภายนอก หรือ outsource ผู้ว่าจ้างก็ต้องตรวจสอบตรวจทานตามระบบระเบียบ ไม่สมควรปล่อยให้ outsource ดำเนินการกันเอง

แม้เราจะเห็นความเอาจริงเอาจังกับงานรื้อถอนต้นไม้และอุปกรณ์ส่วนควบอื่น ๆ ของบ้านหลังที่เกิดเหตุ จากแรงงานบริษัทผู้รับเหมาที่ถูกว่าจ้างมา ส่วนตัวคิดว่า ไม่ใช่เป็นความผิดของผู้รับเหมา

แต่ผู้ว่าจ้างต่างหากที่ต้องรับผิดแบบเต็ม ๆ

ล่าสุด การที่ธนาคารออมสินออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันรับผิดชอบค่าเสียหายอย่างเต็มที่ตามที่เกิดขึ้นจริง และขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น

ถือเป็นการปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ตามหลักการที่ดีงาม

และชาญเฉลียวมากกับการส่งรูปออกสื่อแบบ before-after

ทำให้คนในสังคมเห็นภาพบ้านเก่าที่ถูกปรับปรุงใหม่ ดูสวยงามและน่าอยู่ขึ้น

จนกลายเป็นประเด็นเบี่ยงที่สังคมต่างมีความเห็นว่า นายสมเกียรติ สร้อยสน อายุ 53 ปี และนางกาญจนา สร้อยสน อายุ 45 ปี สองสามีภรรยาซึ่งเป็นผู้เสียหาย น่าจะหยวน ๆ และเกมกันไป

เพราะได้บ้านที่รีโนเวตใหม่ โดยเจ้าของบ้านไม่ต้องเสียเงินสักบาท

แต่แท้จริงแล้ว มีการถกกันในเชิงกฎหมายว่า บ้านของใครก็ของใคร เป็นสิทธิของคนนั้นทั้งกรรมสิทธิ์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และความชอบส่วนตัว เรื่องของความสวยงามไม่มีใครบังคับให้ชอบอะไรที่เหมือนกันได้

บ้านเก่าจริง รกจริง แต่ก็สวยในมุมมองของเจ้าของบ้าน

และจากกรณีที่ผู้เสียหายเรียกร้องเงินเป็นเงินถึง 2.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่มองว่า สมราคา เจ้าของบ้านผู้เสียหายน่าจะยอม แต่เจ้าของบ้านยังคิดอยู่ และยังไม่ขอรับของในบ้านที่ถูกรื้อและขนย้ายออกไปคืน โดยธนาคารได้นัดหารืออีกครั้งในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เพื่อทบทวนข้อเรียกร้อง และประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร จ่ายมากจ่ายน้อย มาถึงเวลานี้ธนาคารก็ต้องจ่ายในทันที เมื่อรู้ว่า ได้ยึดบ้านผิดหลังไปแล้ว

เพราะถ้าเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ “แบรนด์ของออมสิน” ถือว่า เทียบกันไม่ได้เลย

จากปัญหานี้ ทำให้ออมสินจะถูกลดความน่าเชื่อลงอย่างน่าเสียดาย

และยิ่งน่าตกใจ เมื่อเคสนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 แต่เงียบและไร้ข้อยุติ


ทั้ง ๆ ที่เป็นข่าวอุทาหรณ์สอนใจ เป็นบทเรียนราคาแพง ทั้งท็อปแมเนจเมนต์และผู้บริหารทุกคนทุกฝ่ายต้องตระหนักหนัก ๆ