ยุคทอง “เชียงของ”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ประเสริฐ จารึก

ด้วยศักยภาพของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีพรมแดนติดแม่น้ำโขง และ สปป.ลาว เป็นประตูการค้าในแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ผ่านโครงข่ายถนน R3A

เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมการค้า 3 ประเทศ “ไทย-ลาว-จีน” จากคุนหมิง-บ่อหาน-บ่อเต็น-ห้วยทราย-เชียงของ

ทำให้อำเภอตะเข็บชายแดนแห่งนี้ กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายที่รัฐบาลประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกผ่านด่านที่เพิ่มขึ้นทุกปี นับจากเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 “เชียงของ-ห้วยทราย” เมื่อปลายปี 2556

จาก 8,000 ล้านบาท ปัจจุบันกระโดดมาอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท ปีนี้คาดการณ์จะเกิน 30,000 ล้านบาท มี “จีนตอนใต้” เป็นลูกค้ารายใหญ่

จาก “สะพานข้ามโขงแห่งที่ 4” ขณะนี้ในพื้นที่กำลังโหมก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้า อยู่ห่างจากด่านประมาณ 1 กม. ให้เสร็จต้นปี 2563

เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าข้ามแดนแบบเบ็ดเสร็จ ที่สำคัญจะเป็นการชิปโหมดการขนส่งจาก “ถนน”

สู่ “ระบบราง” ผ่านเส้นทางรถไฟสายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียนและการเติบโตของจีนฝั่งตะวันตกที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล

วันนี้ถึง “เชียงของ” จะมีสะพานเชื่อมกับลาว แต่พื้นที่ยังไม่มีการพัฒนาใหม่ ๆ มากนัก เห็นได้จากสองฝั่งถนนที่มุ่งหน้าไปยังสะพาน มีเพียง “โครงการเมืองใหม่เชียงของ”

“ทัศนัย สุธาพจน์” นายอำเภอเชียงของ อธิบายว่า เชียงของเป็นเมืองเก่า สงบเงียบ มีการค้าขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านท่าเรือเชียงแสนไปยังลาวและจีน แต่ไม่มีมูลค่ามากนัก

หลังมีสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 โดยมี “เชียงของ” เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าผ่านถนน R3A ไปยังกลุ่มอนุภาคลุ่ม

แม่น้ำโขง (GMS) ส่งผลดีต่อมูลค่าการค้าระหว่างประเทศลาวและจีนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าขนาดใหญ่ น้ำมัน และถ่านหิน

“โครงการเชียงของเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น เป็นการเล็งโอกาสเติบโตของคนพื้นที่ หลังมีสะพานแล้ว คิดว่าน่าจะมีกิจกรรมการค้าท้องถิ่นเพิ่ม แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เป็นเรื่องของกิจกรรมการค้าการขนส่งสินค้าระดับประเทศ ในอนาคตจะมีแนวโน้มที่ดี จังหวะยังมาไม่ถึง ต้องใช้เวลา เพราะสะพานเพิ่งเปิดมา 4 ปี แต่เมืองก็เติบโตค่อนข้างมาก”

นายอำเภอเชียงของประเมินว่าอีก 10 ปีข้างหน้า “เชียงของ” จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 10 ปีที่แล้ว ที่ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงไประดับหนึ่งแล้ว

จากเป็นเมืองเงียบ ๆ ปัจจุบันมีการพัฒนาตึกใหม่ ๆ บนทำเลด้านทิศใต้ของสะพาน ทำให้ที่ดินราคาซื้อขายขยับตามไปด้วย อยู่ที่ไร่ละ 10 ล้านบาท “รัฐบาลประกาศเชียงของเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเมืองโลจิสติกส์ซิตี้ เชื่อมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จะทำให้คึกคักขึ้นอีก ตอนนี้คนเชียงของกำลังรอรถไฟจะสร้างมาจากเด่นชัย-เชียงราย จะทำให้เกิดการกระตุ้นกิจกรรมการค้าและการท่องเที่ยวเชียงของคึกคักมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกำลังบูมเชียงของเป็นแหล่งการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง เลาะไปตามถนนเลียบโขงจากเชียงแสน-เชียงของ”

ถึงวันนี้รถไฟยังมาไม่ถึง แต่ “เชียงของ” ได้งบประมาณก่อสร้างโครงข่ายถนนหลายสายเชื่อมต่อไปยังด่านให้สมบูรณ์ เพื่อไปสู่เป้าหมาย “โลจิสติกส์ซิ้ตี้” ของภาคเหนือ มีทั้งขยายถนนเชียงของ-เชียงแสน เป็น 4 ช่องจราจรทั้งระบบ จะแล้วเสร็จเดือน เม.ย.นี้ ตัดเลี่ยงเมืองเชื่อมไปยังสะพาน และขยายถนนจากสนามบินไปเชื่อมเชียงแสน ตัดถนนสายหัวดอย-บ้านใหม่พัฒนา

ขณะเดียวกันยังมีแนวคิดจะปัดฝุ่นสนามบินเก่า สมัยสงครามคอมมิวนิสต์ เนื้อที่ 99 ไร่ ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวไปประมาณ 3-4 กม. เป็นสนามบินเชิง

พาณิชย์ เหมือนสนามบินปาย รองรับเครื่องบินเล็ก นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ เสริมแกร่งการคมนาคมขนส่ง “เชียงของ” ให้ครบโหมด บก ราง น้ำ และอากาศ