กรุงเทพมหานคร ตลาดพหุวัฒนธรรมอาเซียน

คอลัมน์ ASEAN SECRET โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช

กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะ “แผนพัฒนาเมือง” เพื่อผลักดัน กทม.สู่มหานครแห่งอาเซียนและเอเชีย

หากพิจารณาทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2560-2564) ร่างผังภาค กทม.และปริมณฑล รวมถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาของกรุงเทพมหานคร ก็ล้วนสื่อให้เห็นถึง เป้าหมายการส่งเสริมกรุงเทพฯ ให้เป็นทั้งศูนย์กลางประเทศและภูมิภาค ในหลาย ๆ ด้าน เช่น โลจิสติกส์ การบริการธุรกิจ การศึกษา หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม

สำหรับในส่วนหลัง เอาเข้าจริง กรุงเทพฯ มีต้นทุนทางวัฒนธรรมในระดับสูงเมื่อเทียบกับเมืองหลวงอื่นในอาเซียน โดยเฉพาะความหลากหลายของโครงสร้างพหุวัฒนธรรมซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มประชาคมที่มีต้นรากนานาชาติในทางประวัติศาสตร์ มิหนำซ้ำ ชุมชนเหล่านี้ยังมีถิ่นฐานแทรกตัวอยู่ทั้งในเขตแกนวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ในย่านธุรกิจพาณิชยกรรมชั้นนำ หรือแม้กระทั่งตามเขตเกษตรกรรมรอบนอก

ในงานศึกษาของ Edward Van Roy (2017) เน้นย้ำว่า ประชากรหลากชาติพันธุ์ คือ องค์ประกอบหลักของพลวัตและพัฒนาการประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ พร้อมยังจำแนกกลุ่มชนจำนวนมากในเขต กทม.ออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น โปรตุเกส มอญ ลาว จาม เปอร์เซีย อินเดีย อาหรับ มลายู อินโดนีเซีย เขมร เวียดนาม และชาวจีน ที่แบ่งออกเป็นพวกแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฮักกา ไหหลำและกวางตุ้ง

นอกจากนี้ Roy ยังชี้ให้เห็นถึงวงถิ่นฐานชาติพันธุ์ที่มีลักษณะกระจุกตัวและกระจายตัวทั่วเขตภูมิทัศน์ กทม. อาทิ ชุมชนมุสลิมมลายูแถบทุ่งกสิกรรมในมีนบุรี-หนองจอก ชุมชนจีน-อินเดีย-มอญ-ฝรั่ง ฯลฯ

ในย่านธุรกิจยานนาวาและสาทร ตลอดจนชุมชนลาว-เวียดนาม-เขมร ที่ตั้งอยู่ในวงเมืองเก่า กทม. หรืออยู่ไม่ไกลนักจากเกาะรัตนโกสินทร์

จากภาพประชาคมนานาชาติที่นำแสดงมา จึงทำให้กรุงเทพมหานครมีต้นทุน ตลาดวัฒนธรรม ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับนครหลวงอื่น ๆ ในอาเซียน

อย่างในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวมลายู จีน และอินเดีย ส่วนในเมืองฮานอย เวียดนาม ประชาคมหลักคือชาวเวียดนามและชนกลุ่มน้อยบางเผ่าทางภาคเหนือ ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ชุมชนใหญ่ก็คือพวกพื้นเมืองฟิลิปปินส์ ตลอดจนกลุ่มลูกผสมเชื้อสายจีน ญี่ปุ่น อเมริกันและสเปน เป็นต้น

แต่สำหรับกรุงเทพฯแล้ว พบเห็นย่านประชากรจำนวนมากที่แสดงการสืบสายทางชาติพันธุ์หรือรับอิทธิพลประวัติศาสตร์มาจากต้นวงศ์ หรือกลุ่มดินแดนที่หลากหลายซับซ้อน (ทั้งในแถบตะวันตก เอเชีย และอุษาคเนย์)

เพียงแต่ว่าท่ามกลางสภาพพหุวัฒนธรรมเช่นนี้ ผู้คนใน กทม.กลับอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการคาบเกี่ยวกันระหว่าง “ภาวะแบบเบ้าหลอม (Melting Pot)” ที่ควบรวมผสมผสานองค์ประกอบชาติพันธุ์วัฒนธรรมให้ลงตัวกลมกลืนกันภายใต้ความเป็นไทย และ “ภาวะแบบจานสลัด (Salad Bowl)” ที่แม้กลุ่มชนจะถูกผนวกควบรวมเป็นเนื้อเดียวกัน (ตามแบบประเภทแรก)

หากแต่ก็ยังหลงเหลือเค้าลางมรดกอัตลักษณ์วัฒนธรรมในบางชุมชน เช่น การปรุงอาหาร เครื่องแต่งกาย คำศัพท์สนทนาและการนับถือศาสนา ที่พอจะบ่งชี้ได้ว่า คนเหล่านั้นเป็นใคร มาจากไหน (คล้าย ๆ กับผักสารพัดชนิดที่คลุกเคล้าอยู่ในจานสลัดที่คงรูปลักษณ์เดิม แต่ก็ร่วมประสานจุดเด่นจนได้รสชาติใหม่ที่ค่อนข้างลงตัว)

อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๆ ที่กรุงเทพฯ คือภาพตัวแทนสีสันเชิงวัฒนธรรม โจทย์แหลมคมที่ยังแก้ไม่ตก คือ แล้วกรุงเทพฯ จะสามารถดึงต้นทุนทางชาติพันธุ์วัฒนธรรมที่มีอยู่สูงนี้เข้ามาแปรรูปบูรณาการกับตลาดธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็น “มหานครระดับอาเซียนหรือเอเชีย” ได้อย่างไร ?

ทั้งหมดนี้จึงอยากเสนอให้กรุงเทพฯ สำรวจจัดทำ แผนที่ย่านชุมชนวัฒนธรรม ครอบคลุมทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และบางส่วนของปริมณฑล

จากนั้นให้จัดกิจกรรมประสานสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน หรือแม้กระทั่งภาคนานาชาติ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศักยภาพการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ อาทิ ทำอย่างไรที่จะขยายกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามย่านชุมชนในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับกระแส “เออีซี” อย่างมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรที่จะให้ชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้ได้ประโยชน์พร้อม ๆ กับพัฒนาสัมพันธ์ร่วมกับนักท่องเที่ยวที่มาจากเขตวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกัน หรือที่มาจากประเทศที่เป็นต้นรากเดียวกันกับบรรพบุรุษชุมชน เช่น กรณีของนักท่องเที่ยวเวียดนามกับโบสถ์บ้านญวนที่สามเสน หรือนักท่องเที่ยวมาเลเซียกับชุมชนมัสยิดที่สวนพลูและบางลำพู

ขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ ควรเพิ่มบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานใต้สังกัดให้เข้มข้นขึ้น เช่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ, สภาวัฒนธรรมเขต, หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ, ศูนย์ข้อมูลธุรกิจกรุงเทพฯ ฯลฯ

โดยให้ทำงานเชื่อมประสานบูรณาการกันและให้มีการติดต่อเชื่อมโยงกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือเครือข่ายวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ธุรกิจการท่องเที่ยว ชาติพันธุ์วัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ถึงแม้จะมีอุปสรรค เช่น ความซับซ้อนของตัวแสดง ระบบการเมือง และปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม

แต่ก็น่าเชื่อว่าหากมีแผนยุทธศาสตร์และการปฏิบัติที่จริงจังแล้ว ตลาดพหุวัฒนธรรม

อาจเริ่มผลิดอกออกผล จนค่อย ๆ กระตุ้นให้กรุงเทพมหานครก้าวเข้าสู่ความเป็น “มหานครแห่งอาเซียนและเอเชีย” หรือแม้กระทั่งมุ่งสู่ “มหานครระดับโลก” (Global Metropolis) อย่างแท้จริงก็เป็นได้