ปมขึ้นค่าแรงรัฐต้องแจงให้ชัด

บทบรรณาธิการ

แม้ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) จะมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป แต่เวลาผ่านมากว่าสัปดาห์กระแสคัดค้านก็ยังมีต่อเนื่อง ในส่วนของลูกจ้างต้องการให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวกัน 360 บาททั่วประเทศ ขณะที่นายจ้างขอให้รัฐทบทวน โดยชี้ว่าหลายจังหวัดปรับขึ้นค่าแรงในระดับที่สูง กระทบภาคเกษตร ธุรกิจบริการ รวมทั้งเอสเอ็มอี

ทำให้นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานบอร์ดไตรภาคี ต้องออกมายืนยันว่า จะไม่มีการทบทวนอัตราค่าจ้างใหม่ โดยให้เหตุผลว่า การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดเมื่อ 17 ม.ค.ที่ผ่านมานั้นเหมาะสมแล้ว เพราะที่ประชุมมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและนำหลากหลายปัจจัยมาใช้ประกอบการตัดสินใจ

จึงน่าจับตามองว่า ช่วงรอยต่อก่อนเรื่องนี้จะถูกบรรจุเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 ม.ค. โอกาสที่รัฐบาลจะถูกกดดันถึงขั้นต้องปรับรื้อบัญชีอัตราค่าจ้างเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และถ้าหากต้องปรับรื้อจริงจะมีสิ่งใดเป็นหลักประกันได้ว่า จะทำให้ลูกจ้างกับนายจ้างพอใจและยอมรับได้

กระทรวงแรงงานในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลภาคแรงงานทั้งในส่วนของลูกจ้าง กับผู้ประกอบการ จึงต้องทำหน้าที่เป็นคนกลาง ดำเนินการตามกฎกติกาที่วางไว้ด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส และควรใช้โอกาสนี้ชี้แจงทำความเข้าใจถึงหลักการ เหตุผล รวมทั้งที่มาของการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่เวลานี้ถูกลูกจ้าง นายจ้างมองว่ายังมีปัญหา

พร้อมตอบคำถามและข้อสงสัยหลากหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์ ป้องกันไม่ให้ปมปัญหาค่าแรงขั้นต่ำถูกนำไปขยายบานปลายกลายเป็นข้อขัดแย้ง

ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน จะได้นำไปปรับใช้ไม่ให้ถูกคัดค้านหรือท้วงติงต่อไปภายหน้า

อาทิ ข้อเสนอให้แยกพิจารณากำหนดค่าแรงขั้นต่ำภาคเกษตร ธุรกิจบริการ เอสเอ็มอี ฯลฯ ซึ่งต้องใช้แรงงานเข้มข้นออกจากธุรกิจอื่น ๆ การกำหนดแนวทางปฏิบัติให้การประชุมอนุกรรมการไตรภาคีจังหวัดต้องมีตัวแทน 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และตัวแทนภาครัฐครบองค์ประชุม อุดช่องโหว่ที่บางจังหวัดไม่มีตัวแทนฝ่ายลูกจ้างเข้าร่วมพิจารณา เป็นต้น

ที่สำคัญ ต้องเร่งป้องกันแก้ไขปัญหาที่จะตามมาหลังปรับขึ้นค่าจ้าง ทั้งมาตรการช่วยเหลือเยียวยานายจ้าง สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อย่างการให้เอสเอ็มอีนำค่าใช้จ่ายด้านแรงงานไปหักลดหย่อนภาษี 1.15 เท่า การช่วยเหลือเยียวยานายจ้างภาคเกษตร บริการ การควบคุมดูแลราคาสินค้า ฯลฯ เพื่อลดผลกระทบและทำให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นมากขึ้น กระแสคัดค้านค่าแรงขั้นต่ำจะได้ลดน้อยลง