รัฐแก้ปม สารเคมีตกค้าง เดิมพันด้วยชีวิต ! ผู้บริโภค

ภาพประกอบ Pixabay

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

การตอกย้ำถึงอันตราย ! ของ “สารเคมีตกค้าง” ในประเทศไทยชัดเจนขึ้นอีกครั้ง เมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ออกมาแถลงผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย “นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์” ผู้ประสานงานระบุว่า พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินหรือ “ผักไฮโดรโพนิกส์” สูงกว่าผักทั่วไป

โดยไทยแพนเก็บตัวอย่างผักไฮโดรโพนิกส์ 30 ตัวอย่างจากตลาดและห้างทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พบว่า ผัก 19 ตัวอย่างพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน หรือคิดเป็น 63.3% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด โดยพบผักที่ไม่มีการตกค้างเลย 8 ตัวอย่าง และพบว่าตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 3 ตัวอย่าง

เมื่อเทียบกับการตกค้างของผักและผลไม้ทั่วไป ไทยแพนได้สำรวจเมื่อปลายปีที่ผ่านมา พบว่ามีการตกค้างสูงกว่า โดยผักทั่วไปพบการตกค้างเกินมาตรฐาน 54.4% ไทยแพนย้ำว่า ความเข้าใจของประชาชนที่คิดว่าผักไฮโดรโพนิกส์เป็นผักที่ปลอดภัย มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชน้อย จึงไม่เป็นความจริง !

ทั้งนี้ ไทยแพนระบุว่า พบสารพิษตกค้างมากถึง 25 ชนิด เช่น สารกำจัดวัชพืช (Herbicide) 1 ชนิด คือ Ametryn สารป้องกันและกำจัดโรคพืช (Fungicide) 6 ชนิด สารกำจัดแมลงและไร (Insecticide and Acaricide) รวม 18 ชนิด กลุ่มอื่น ๆ 10 ชนิด

รวมถึงพบการตกค้างของไนเตรต ซึ่งหากตกค้างเกินมาตรฐานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยพบว่าผักเรดคอรัล เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก บัตเตอร์เฮด และฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก มีไนเตรตตกค้างตั้งแต่ 199-2,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่มีเพียง 1 ตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานส่วนผักคะน้า ผักกาดฮ่องเต้ ผักโขมแดง และผักบุ้งจีนที่ปลูกแบบไร้ดินนั้น พบการตกค้างของไนเตรตระหว่าง 2,976-6,019 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าผักในกลุ่มแรก แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการตกค้างเหล่านี้

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สารทั้งหมดที่พบนั้นเป็นสารดูดซึมมากถึง 17 ชนิด ทำให้ “การล้าง” เพื่อลดจำนวนสารตกค้างลงเป็นไปได้ยาก !” นางสาวปรกชลกล่าว

และหากย้อนไปช่วงปี 2559 ไทยแพนได้สร้างความตื่นตระหนกมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากรายงานเปิดเผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภค เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา พริกแดง แตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง จำนวน 138 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เชียงใหม่และอุบลราชธานี พบว่า ในภาพรวมมีผักและผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 46.4% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่าง

ข้อมูลปัญหาการตกค้างของสารเคมีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในไทย ส่งผลให้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ได้มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอตสารเคมีฆ่าหญ้าและคลอร์ไพริฟอสสารเคมีฆ่าแมลง โดยไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และให้ยุติการนำเข้าในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2562 รวมถึงเตรียมควบคุมการใช้ “ไกลโฟเสต” เพราะพาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง ไม่สามารถถอนพิษได้ ที่ผ่านมา 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว

เมื่อช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ต่อทะเบียนใบอนุญาตที่หมดอายุของหลายบริษัทผู้นำเข้าสารเคมีให้จำหน่ายต่อไปได้อีก 6 ปี…ระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา ซึ่งมี นายภักดี โพธิศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นประธาน เพื่อหาข้อเท็จจริงในการพิจารณาให้มีการยกเลิกสารหรือไม่ภายใน 3 เดือน (ครบกำหนดเดือนมีนาคม 61)

การประสานงาน ! ของ 2 กระทรวงที่เกิดขึ้นระหว่าง “กระทรวงสาธารณสุข” และ “กระทรวงเกษตรฯ” โดยโยนลูกให้ “กระทรวงอุตสาหกรรม” เป็นกรรมการชี้ขาด ! ทั้งที่ทั้ง 3 กระทรวงนั่งอยู่ใน “คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีฯ” ที่เห็นชอบลงมติด้วยกันมา…จึงสร้างความกังขาในใจให้กับประชาชนผู้เสียภาษีตาดำ ๆ ยิ่งนักว่า ใคร ? “กำลังเล่นเกมอะไรกัน” ?

แต่ที่แน่ๆ…ข้อมูลการตัดสินชี้ขาดในครั้งนี้มี “ชีวิต” ของลูกหลานผู้บริโภคทั้งประเทศไทยเป็นเดิมพัน !

จากข้อมูลจากสถาบันมะเร็ง รายงานสถานการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทยว่า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543 โดยปี 2555 ไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งรายใหม่ ประมาณ 1 แสนราย และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึง 60,000 คน หรือเฉลี่ยเสียชีวิตประมาณ 7 คนต่อชั่วโมง !

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”