การท่องเที่ยวโดยชุมชน โอกาสด้านการตลาด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ภาพ Pixabay

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย เบญจวรรณ วงศ์คำ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 และเกิดขึ้นมาโดยตลอด หากติดตามข่าวสารและภาพตามจินตนาการของผู้คนทั่วไป จะเกิดความรู้สึกว่าจังหวัดชายแดนใต้น่าจะเป็นพื้นที่น่ากลัว ไม่กล้าเดินทางไปสัมผัสหรือท่องเที่ยว โดยเฉพาะปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะมียกเว้นก็คงเป็นสตูลและสงขลา ที่ดูว่าไม่ค่อยมีสถานการณ์รุนแรงเท่าใด

แต่ใครจะทราบบ้างว่า ที่จริงแล้ว 5 จังหวัดชายแดนใต้ ความเคลื่อนไหวด้านการท่องเที่ยวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับตัวของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการท่องเที่ยว แม้ว่าจะประสบวิกฤติด้านพื้นที่โดยตรงในยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และวิกฤติด้านภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นกับจังหวัดสงขลาและสตูล นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศยังคงเดินทางเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ระหว่างปี 2555-2557 มีนักท่องเที่ยวใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ดังนี้ ตั้งแต่ปี 2555 จำนวน 6,497,505 คน แบ่งเป็นชาวไทย 4,849,608 คน ชาวต่างประเทศ 1,647,897 คน ปี 2556 จำนวน 8,227,088 คน เป็นชาวไทย 5,108,157 คน ชาวต่างประเทศ 3,119,111 คน ส่วนปี 2557 จำนวน 8,766,474 คน เป็นคนไทย 5,495,081 คน ชาวต่างประเทศ 3,271,393 คน

ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ยังมีโอกาสในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีวัฒนธรรมคล้ายกันกับผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดสตูลได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวยุโรป เช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน กลุ่มยุโรป และนักท่องเที่ยวในกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ที่กำลังถูกจับตามองจากทั่วโลกว่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อในอนาคต

ภูมินิเวศของ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วยภูเขา ป่า ทุ่งนา ทะเล ป่าพรุ จึงมีสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่แตกต่างและหลากหลาย เริ่มจาก จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดเดียวที่ตั้งอยู่ในฝั่งทะเลอันดามัน มีแหล่งท่องเที่ยวรู้จักกันดีในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติประกอบด้วยเกาะตะรุเตา หลีเป๊ะ เกาะไข่ อาดัง ราวี เป็นต้น เช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวบนฝั่งที่กำลังนิยม ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาใน อ.ทุ่งหว้า ถ้ำภูผาเพชร น้ำตกวังสายทอง ใน อ.มะนัง ล้วนแต่เป็นสินค้าด้านท่องเที่ยวที่มีชื่อ

ขณะที่ สงขลา เป็นจังหวัดศูนย์กลางทางการค้า คมนาคม และเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของภาคใต้ตอนล่าง มีสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวอยู่ใน 3 เมืองหลัก คือ เมืองสงขลา หาดใหญ่ และด่านนอก (ด่านชายแดนสะเดา) สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ หาดสมิหลา ย่านเมืองเก่าสงขลา เกาะยอ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ แหล่งบันเทิงที่ด่านนอก เป็นต้น

จังหวัดปัตตานี มีสถานที่ท่องเที่ยวครบของผู้คน 3 เชื้อชาติ คือไทยพุทธ ไทยมุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีน โดยมีวัดช้างให้ หลวงพ่อทวด เกจิชื่อดังทางภาคใต้ มัสยิดกรือเซะ แหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของนักท่องเที่ยวทั่วไป

จังหวัดยะลา มีความพร้อมของธุรกิจบริการและความเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ เขื่อนบางลาง ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ เชื่อมต่อกับป่าฮาลา บาลา ที่อยู่ติดกับประเทศมาเลเซียและเมืองเบตง ได้ชื่อว่าเมืองในหมอกดอกไม้งาม

สุดท้าย นราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีลักษณะเด่นที่แตกต่าง สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ได้แก่ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ วัดชลธาราสิงเห วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมืองโก-ลก เป็นต้น

เหล่านี้คือสินค้าด้านการท่องเที่ยวหลักใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับชุมชนที่สำคัญ นอกจากนั้นแล้ว 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความพร้อมด้านระบบขนส่ง เชื่อมต่อไปถึงมาเลเซีย การเชื่อมโยงการคมนาคมภายในประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน มีข้อได้เปรียบสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น และยังมีด่านชายแดนที่สำคัญซึ่งถือเป็นประตูสู่อาเซียน 8 ด่าน ประกอบด้วย จ.สงขลา ได้แก่ ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ และด่านบ้านประกอบ, จ.สตูล ได้แก่ ด่านตำมะลัง และด่านรังประจัน, จ.ยะลา มีด่านเบตง ส่วน จ.นราธิวาส มีด่านตากใบ และด่านสุไหงโก-ลก

ด่านเหล่านี้ก่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวระหว่างไทย มาเลเซีย อาเซียน และจากทั่วโลก โดยเฉพาะด่านสะเดาได้ชื่อว่าเป็นด่านทางบกที่ใหญ่ที่สุดของไทย นอกจากด่านชายแดนแล้ว ยังมีสนามบินนานาชาติ และสนามบินในประเทศ ได้แก่ สนามบินหาดใหญ่ มีเที่ยวบินประจำวันทั้งในประเทศและต่างประเทศ (มาเลเซียและสิงคโปร์) และสนามบินนราธิวาส อีกทั้งยังมีรถไฟเชื่อมการเดินทางจากสถานีบัตเตอร์เวอร์ธ มาเลเซีย ไปกรุงเทพฯ ให้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย ขณะที่ จ.ตรัง ก็มีสนามบินภายในประเทศ ที่เปิดให้บริการมานาน นักท่องเที่ยวบางส่วนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในสตูล ส่วนหนึ่งได้เดินทางผ่านสนามบินดังกล่าว

นอกจากนี้ ระบบคมนาคมขนส่งในประเทศมาเลเซียเองซึ่งมีสนามบินนานาชาติปีนัง และสนามบินนานาชาติเกาะลังกาวี รถไฟฟ้า (ความเร็ว 160 กม./ชม.) เส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ปาดังเบซาร์ เป็นการเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวทั้งจากประเทศมาเลเซียและจากประเทศที่สาม ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้

จากข้อมูลตัวเลขนักท่องเที่ยวโอกาสทางการท่องเที่ยว และทรัพยากรการท่องเที่ยวของพื้นที่ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ทุกอย่างมีความพร้อมหมดคำถามสำคัญ คือ ทำอย่างไรชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะ 4 จังหวัด (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) จึงจะมีรายได้เกิดขึ้นเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนให้กับคนในท้องถิ่นได้จริง ๆ

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”