OTOP Authentic

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

ออกแรงปลุกปั้นจนสามารถสร้างชื่อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่คนทั่วไปรู้จักและเรียกขาน ตั้งแต่ปี 2544 ถึงวันนี้ร่วม 17 ปีแล้ว กรมการพัฒนาชุมชน ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแล สวมบทบาทเป็นทั้งครู พี่เลี้ยง แม้กระทั่งทำหน้าที่เป็นแมวมองในการคัดสรรสินค้าและผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อนนำมาปรับปรุงพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากโมเดลต้นแบบ One Village One Product ที่นำแนวคิดมาจากเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาต่อยอดโดยอาศัยจุดเด่นภูมิปัญญาชาวบ้าน บวกกับเอกลักษณ์ความเป็นไทย ปัจจุบันสินค้าโอท็อปก้าวไปไกล เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคทั้งไทยและต่างชาติ

สามารถสร้างรายได้แต่ละปีมหาศาล จากปี 2558 ยอดขายสินค้าโอท็อปทั้งระบบอยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 1.25 แสนล้านบาทในปี 2559 สำหรับปี 2560 ที่ผ่านมามียอดขายรวม 1.53 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 22% มีแนวโน้มสูงที่ภายในปีสองปีนี้จะมีรายได้ทะลุ 2 แสนล้านบาท ตามที่อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อภิชาติ โตดิลกเวชช์ ตั้งเป้าไว้

ช่วงระยะเวลายาวนาน กว่าผลิตภัณฑ์โอท็อปขึ้นชื่อทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ จะก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้า หลายโปรดักต์เทียบชั้นอินเตอร์ได้แบบไม่น้อยหน้า ผู้ประกอบการโอท็อปรายย่อย วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพยายามอย่างหนัก และนำสารพัดกลยุทธ์ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป การตลาดมาใช้ เป็นบทเรียนความสำเร็จและล้มเหลว สั่งสมกลั่นกรองเป็นประสบการณ์พร้อมนำไปถ่ายทอดต่อ

โดยเฉพาะกิจกรรมการตลาดที่สร้างชื่อเสียงทำให้ผลิตภัณฑ์โอท็อปเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อย่างงานมหกรรมสินค้าโอท็อป ที่กรมพัฒนาชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดขึ้นทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ทั้งงานใหญ่ งานเล็ก หมุนเวียนไปทุกภูมิภาคในแต่ละปี

ขณะเดียวกันก็จัดทำแผนยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์โอท็อปไทย ด้วยการจัดทำเครื่องหมายผลิตภัณฑ์โอท็อป และจัดระดับเครื่องหมายคุณภาพสินค้า โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย

1.โอท็อประดับ premium ใช้สัญลักษณ์เครื่องหมายโอท็อปสีทอง ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล 2.โอท็อป classic สีเงิน เป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และมีคุณค่าสูง 3.โอท็อป standard สีแดง 4.โอท็อป rising star หรือสินค้าดาวรุ่ง

และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และทำให้โอท็อปมีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ล่าสุด กรมการพัฒนาชุมชนจะลอนช์โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าโอท็อป รสไทยแท้ หรือ OTOP Authentic โดยจะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการร้านอาหารไทยที่มีรสชาติไทยแท้ และมีความเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารริมทาง ร้านอาหารในโรงแรม ภัตตาคาร ทุกจังหวัดทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 600 ราย

พร้อมจัดทำมาตรฐานยกระดับอาหารไทย โอท็อป รสไทยแท้ รองรับ ผู้ประกอบการรายใดผ่านเกณฑ์การประเมิน ซึ่งจะพิจารณาจากคุณภาพวัตถุดิบ เทคนิค ความชำนาญ ลักษณะเฉพาะ ความแตกต่างความน่าสนใจ สุขลักษณะ ความคุ้มค่า คุ้มราคา ฯลฯ จะได้รับตราสัญลักษณ์ โอท็อป รสไทยแท้ เป็นเครื่องการันตี และจะมีการสุ่มตรวจผู้ที่ได้การรับรองมาตรฐานอย่างน้อยปีละครั้ง โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า

แม้ชื่อชั้นอาจยังเทียบไม่ได้กับที่ได้รับติดดาวจาก “มิชลิน ไกด์” แต่ถ้าวัดกันที่ความอร่อยลิ้น ด้วยรสชาติแบบไทย ๆ อาหารเหนือพื้นถิ่น อีสาน กลาง หรือใต้แท้ น่าจะถูกใจลูกค้าไม่แพ้ มิชลิน สตาร์แน่นอนว่าทุกเมนูที่ผ่านมาตรฐานจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุน ด้วยการโปรโมตประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหลัก โซเชียลมีเดีย รวมทั้งหลากหลายกิจกรรมที่ภาครัฐจะดำเนินการต่อเนื่อง แถมได้เข้าร่วมงาน Thai Fastival ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในต่างประเทศ


ขาช็อป ขาชิม ที่ชอบลอง ของคาว ของหวาน รสไทยแท้ พลาดไม่ได้…ขอบอก