พายุการเมืองหลัง เอเปค

ประยุทธ์ เอเปค
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

เหมือนการเมืองจะนิ่งสงบไปชั่วครู่ชั่วยาม ในสัปดาห์แห่งการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ แม้จะมีความปั่นป่วนนอกห้องประชุมจากการประท้วงอยู่บ้าง

แน่นอนว่า หลังการประชุมเอเปคจบลง ไม่มีวาระระหว่างประเทศมาคั่นกลาง ทุกอย่างจะเข้าสู่โหมดการเมืองในบ้านอย่างเต็มที่

เพียงแค่เริ่มสัปดาห์ก็มีการประชุมวุฒิสภา หารือเรื่องจะเห็นชอบกับการทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่สภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) เสนอมา โดยผ่านการลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์

พรรคหลักที่เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้คือ “พรรคก้าวไกล” ชูแคมเปญให้ทำประชามติในคราวเดียวกับวันเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 โดยมี “พรรคเพื่อไทย” เข้ามาผสมโรงภายหลัง

ที่สุดแล้วญัตติดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมทั้ง 2 สภา ถ้า ส.ว.ไม่เห็นชอบก็ถือว่าญัตติตกไป แต่ถ้าผ่านด่าน ส.ว.ไปได้ เผือกร้อนก็จะตกมาอยู่ที่รัฐบาล ที่จะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการทำประชามติว่าจะทำ-ไม่ทำ

พรรคฝ่ายค้านปัจจุบันพร้อมที่จะจุดกระแสนอกสภา กดดันรัฐบาลอยู่แล้ว

ถัดมาในวาระร้อนของสภา หนีไม่พ้นกฎหมายกัญชา กัญชง ที่มีพรรคภูมิใจไทย เป็นหัวหอกสำคัญ โดยพิจารณาในวาระที่ 2 อันเป็นวาระรายมาตรา

เรื่องราวบานปลายไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์คัดค้านหัวชนฝา ไม่เห็นด้วยกับการให้นำมาใช้ในด้านสันทนาการ ส่วน “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกฯ

และ รมว.สาธารณสุข ก็ยืนยันขาแข็งว่า กฎหมายดังกล่าวไว้ควบคุมเพื่อให้เป็นกัญชาทางการแพทย์ ไม่มีคำว่า “สันทนาการ” ในกฎหมายสักประโยค

ร้อนถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องออกมาห้ามทัพระหว่างศึกพรรคร่วมรัฐบาล แต่บทสรุปจะเป็นอย่างไรยังต้องรอคำตอบ

ด้านฝ่ายค้าน 6 พรรคก็กระโดดเข้ามาตะลุมบอนในซีนกัญชา ยื่นศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว พร้อมขู่จะคว่ำกฎหมายดังกล่าวหากเข้าข่ายสันทนาการอีกด้วย

และสิ่งที่นักการเมืองเฝ้าจับตาอย่างไม่กะพริบคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ร่าง พ.ร.ป.) 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่จะตัดสินในวันที่ 23 พฤศจิกายน กับ 30 พฤศจิกายน ตามลำดับ

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ฉบับใดฉบับหนึ่งมีอันตกไป การเมืองจะพลิก 180 องศาทันที เพราะร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวข้องกับกระบวนการการเลือกตั้งทั้งกระบวนการ ตั้งแต่กระบวนการของพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ไปจนถึงกติกาการนับคะแนน

หากกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งตกไป จะต้องมีการยกร่างกันใหม่ ส่งผลกระทบมหาศาลต่อการเลือกตั้งปี 2566

นี่เพียงแค่ส่วนหนึ่ง การเมืองหลังเอเปคร้อนแรงยิ่งนัก