จีนลงดาบผู้ประท้วงคุมการ “ไลก์” ชาวเน็ต

กดไลก์
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

หลังจากการประท้วงในจีนเริ่มบานปลาย จากการเรียกร้องให้ผ่อนคลายมาตรการโควิด มาเป็นการขับไล่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มการกวดขันการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลและการใช้สื่อออนไลน์ในการระดมคนออกมาประท้วง

ล่าสุด CNN รายงานว่า จีนเพิ่งออกกฎเหล็กการใช้งานอินเทอร์เน็ตชุดใหม่ ที่ห้ามไม่ให้คน “ไลก์” โพสต์หรือข้อความใดที่เข้าข่ายว่าคุกคามต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้

ความจริงจีนมีการควบคุมการใช้สื่อออนไลน์อย่างเข้มข้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่มีการใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อปราบปรามการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง

แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการล้วงลึกไปถึงขั้นควบคุมการกด “ไลก์” รวมถึงการ “เมนต์” ของชาวเน็ต

ซึ่ง เดวิด สไฟด์ นักวิชาการจาก Hong Kong University of Science and Technology มองว่า เป็นความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์ในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ประท้วงบานปลายไปกว่านี้

การเห็นประชาชนจากหลายเมืองพากันลงถนนในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ตื่นตระหนกและตระหนักว่าความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสื่อสารระหว่างกลุ่มชุมนุมในเมืองต่าง ๆ เป็นภัยคุกคามสำคัญ

ดังนั้น หากไม่อยากให้เหตุการณ์ลุกลามเป็นไฟลามทุ่งก็จำเป็นต้องควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตก่อน

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โลกได้เห็นชาวจีนลงถนนต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นับจากการประท้วงครั้งใหญ่ที่จัตุรัสเทียน อันเหมินในปี 1989

สาเหตุมาจากความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่เข้มงวดจนส่งผลกระทบชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศ

ความไม่พอใจของประชาชนนั้นมีให้เห็นมาตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่ส่วนมากจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การประท้วงผ่านถ้อยคำตามห้องน้ำสาธารณะ หรือการแขวนป้ายผ้าประท้วงบนสะพานลอย

แต่ที่เป็นชนวนให้ชาวบ้านกล้าแหกกฎเหล็กออกมาประท้วงกันตัวเป็น ๆ มาจากเหตุไฟไหม้อาคารแห่งหนึ่งในเมืองอุรุมชีของแคว้นซินเจียง ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน ที่ทำให้ผู้เสียชีวิตถึง 10 ราย ซึ่งคนจำนวนมากเชื่อว่าเกิดจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดจนทำให้คนที่ติดอยู่ในกองเพลิงหนีออกมาไม่ได้

ความไม่พอใจที่สะสมมาตลอด 3 ปี ล้นทะลักและแพร่กระจายไปยังเมืองอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปักกิ่ง ซีอาน นานกิง อู่ฮั่น เฉิงตู เซี่ยงไฮ้ ไปจนถึงกว่างโจว

สิ่งที่ทำให้รัฐบาลต้องเร่งล้อมปราบทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ มาจากความกังวลที่เห็นข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงเริ่มขยายตัว จากเดิมที่ต้องการแค่ให้ผ่อนปรนมาตรการโควิด มาเป็นการขับไล่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไปจนถึงเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็น “สิ่งต้องห้าม” มาช้านานภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์

โจเซฟ เชง อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์จาก City University of Hong Kong บอก CNN ว่า การควบคุมช่องทางการสื่อสาร คือ หนึ่งในมาตรการสำคัญในการสกัดกั้นการเผยแพร่ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและการระดมคนให้ออกมาประท้วงมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนจากการเคลื่อนไหว “อาหรับสปริง” ในปี 2011 ที่อินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในทำให้การประท้วงลุกลามไปทั่วตะวันออกกลางอย่างรวดเร็ว

นอกจากรัฐบาลจีนจะส่งตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าล้อมปราบ จับกุม และตามล่าตัวกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ยังมีการออกกฎไซเบอร์ชุดใหม่โดย Cyberspace Administration of China (CAC) ที่กำหนดให้ทุกเว็บต้องมีระบบการระบุตัวตนของผู้ใช้ผ่านการแสดงบัตรประชาชน หรือให้เบอร์ โทร. ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางของตนได้

รวมทั้งต้องมีระบบจัดอันดับผู้ใช้งานด้วย หากใครโพสต์ความเห็นที่ไม่ “ซื่อสัตย์” จะต้องถูกขึ้นแบนทันที และห้ามกลับมาสมัครใหม่ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะต้องจัดให้มีทีมงานตรวจสอบและปรับปรุงเนื้อหาเพื่อสอดส่องและลบคอมเมนต์ที่ผิดกฎหมาย พร้อมรายงานต่อเจ้าหน้าที่แบบเรียลไทม์ด้วย

แต่นักวิเคราะห์กังขาว่า กฎเหล็กชุดนี้จะใช้ได้ผลเพียงใด เช่น ชงฮี เฟง นักวิชาการด้านจีนศึกษา จาก University of Technology Sydney ที่มองว่า ขนาดปัจจุบันจีนจะมีการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของรัฐที่สุดแสนจะเข้มข้น แต่ก็ยังไม่อาจหยุดยั้งประชาชนที่กล้าหาญในการออกมาต่อต้านระบอบที่ปกครองประเทศนี้อยู่ดี

การออกกฎใหม่ที่ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลในการเข้าสอดส่อง ทุก “เมนต์” และทุก “ไลก์” เลยกลายเป็นคำถามในทางปฏิบัติว่าจะประสบผลมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนที่ยังคงแผ่ขยายไปเรื่อย ๆ จนแทบมองไม่เห็นว่าจะหาทางสกัดกระแสแห่งความโกรธเกรี้ยวที่เชี่ยวกรากนี้อย่างไร ทางออกที่เป็นไปได้ คือ การใช้ความหวาดกลัวเพื่อกดทับให้สยบยอม แต่เชื้อไฟที่ดูสงบเชื่องอาจเป็นเพียงการรอวันปะทุที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้