ร้านสหกรณ์จีน มาแรง รายได้อู้ฟู่เทียบชั้น “อาลีบาบา”

สหกรณ์จีน
คอลัมน์ :  Market Move

ร้านสหกรณ์ หรือร้านโชห่วยที่ดำเนินการโดยรัฐบาล ซึ่งเป็นโมเดลค้าปลีกเก่าแก่ตั้งแต่สมัยประธานเหมา กำลังกลับมาเป็นค้าปลีกสุดฮอตในแดนมังกรอีกครั้ง หลังเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ถึงระดับ 6 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 80% ของรายได้ของยักษ์อีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบา

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า ร้านสหกรณ์ ได้กลายเป็นหนึ่งในเชนค้าปลีกมาแรงในประเทศจีน และขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับยักษ์อีคอมเมิร์ซอย่าง อาลีบาบา หลังสหพันธ์สหกรณ์การจัดหาและการตลาดแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้บริการเครือข่ายร้านสหกรณ์ทั่วประเทศจีน

เปิดเผยตัวเลขรายได้ในปี 2564 ที่สูงถึง 6.26 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 31.1 ล้านล้านบาท) หรือเท่ากับ 80% ของรายได้ของอาลีบาบากรุ๊ป โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซ อีกทั้งยังเติบโตถึง 19% สูงกว่าตลาดค้าปลีกจีนที่เติบโต 12% อีกด้วย

โดยบรรยากาศช่วงเช้าในร้านสหกรณ์แห่งหนึ่งที่เพิ่งเปิดในย่านกลางกรุงปักกิ่งนั้น คลาคล่ำไปด้วยลูกค้าวัยกลางคนและกลุ่มสูงวัย ที่ต่างมาจับจ่ายวัตถุดิบอาหารอย่างผักสด ซึ่งลูกค้ารายหนึ่งระบุว่า เหตุผลที่มีใช้บริการ เพราะผักในร้านสหกรณ์ราคาถูกกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต

ทั้งนี้ ร้านสหกรณ์เป็นหนึ่งในช่องทางค้าปลีกพื้นฐานของจีน มีลักษณะคล้ายร้านชำหรือร้านโชห่วย จำหน่ายสินค้าเกษตรที่รับซื้อมาจากเกษตรกรโดยตรง รวมถึงของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันอื่น ๆ จะมีจุดแตกต่างจากร้านค้าทั่วไปเพียงการตกแต่งที่มีป้ายคำขวัญของพรรคคอมมิวนิสต์ติดอยู่หน้าร้าน แทนที่ป้ายโฆษณาหรือป้ายโปรโมชั่น

โดยร้านสหกรณ์ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2493 หลังก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเล็กน้อย โดยรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนวางโพซิชั่นให้เป็นช่องทางหลักสำหรับกระจายสินค้าอาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันรองรับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม จนต่อมามีร้านสหกรณ์กระจายอยู่ในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน ก่อนจะเสื่อมความนิยมลงไปหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ทำให้ร้านค้าของเอกชนเฟื่องฟูขึ้นมาแทนที่

ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนการฟื้นคืนชีพเติบโตของร้านสหกรณ์จนรายได้สหพันธ์สหกรณ์ฯ ช่วงปี 2555-2564 เติบโตไปถึง 2.4 เท่านั้น มาจากการสนับสนุนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่หลังเข้ารับตำแหน่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี 2555 ได้ผลักดันการขยายสาขาร้านสหกรณ์อีกครั้งอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากช่วงก่อนการประชุมพรรคเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีร้านสหกรณ์สาขาใหม่ผุดขึ้นทั่วประเทศ

อีกปัจจัยที่มีส่วนหนึ่งสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดคือ อานิสงส์จากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่บีบให้ผู้บริโภคหันกลับมาทำอาหารทานเองที่บ้าน

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดว่า แนวคิดเบื้องหลังการรื้อฟื้นโมเดลร้านสหกรณ์นี้ เป็นเพราะรัฐบาลจีนต้องการสร้างและเข้ามาบริหารจัดการเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ใหญ่ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อสร้างเสถียรภาพในระหว่างเกิดวิกฤตต่าง ๆ

โดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งรายหนึ่งกล่าวว่า รัฐบาลจีนอาจพยายามป้องกันไม่ให้การกระจายสินค้าอาหารหยุดชะงักหากเกิดเหตุวิกฤตขึ้นอีกในอนาคต ตัวอย่าง เช่น การถูกแซงก์ชั่นด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐและชาติพันธมิตร เพื่อตอบโต้กรณีที่จีนพยายามใช้กำลังทหารเพื่อผนวกไต้หวัน ซึ่งหากไม่มีแผนรับมือจะทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารขยายวงไปทั่วจีนแผ่นดินใหญ่และกระทบต่อความเชื่อมั่นในพรรค

ทั้งนี้ เนื่องจากแม้รัฐบาลจีนจะระบุว่า สามารถผลิตธัญพืชได้ถึง 95% ของการบริโภค แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าในความเป็นจริงกำลังผลิตจะอยู่ที่ 70-80% เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะถั่วเหลืองสำหรับเลี้ยงสุกร


ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอดูว่า การผลักดันของรัฐบาลจีนและนโยบายโควิดเป็นศูนย์ จะช่วยหนุนร้านสหกรณ์ให้สามารถแซงหน้ายักษ์อีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบาได้หรือไม่ และรัฐบาลจีนจะต่อยอดความสำเร็จนี้อย่างไร