อีสเทิร์น ฟรุต คอร์ริดอร์

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

ไม่ว่าจะเป็น “มหานครผลไม้” “มหาอำนาจผลไม้โลก” หรือ “ฮับผลไม้แห่งเอเชีย” รวมทั้งโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) แต่จุดหมายปลายทางเดียวกัน คือการผลักดันให้พื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี แหล่งผลิตผลไม้แหล่งใหญ่ที่สุดในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก กับระยอง และตราด ซึ่งมีแหล่งผลิตและขึ้นชื่อด้านผลไม้เป็นอันดับที่สองรองจากจันทบุรี ก้าวขึ้นเป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย

ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์เศรษฐกิจด้านการเกษตรภาคตะวันออก ด้านการเกษตร ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เคยประกาศไว้ช่วงเดินทางไปเยี่ยมชมงานมหานครผลไม้ (Fruitipital Fair 2017) ที่หอการค้าจังหวัดจันทบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดขึ้นช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา

เป็นการเติมเต็มให้กับภาคการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาเหมือนถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง เพราะรัฐบาลเน้นหนักด้านการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นกอบเป็นกำมากกว่า เริ่มจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลชุดปัจจุบันนำมาต่อยอดเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ดเฟสสอง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

ขณะที่ภาคการเกษตรแม้ความสำคัญในแง่รายได้อาจน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม แต่กล่าวได้ว่าภาคการเกษตรไม่ว่าจะเป็นสวนผลไม้ ประมง เป็นอาชีพหลักและวิถีดั้งเดิมของคนในภาคตะวันออก และด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้ง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน ทำให้ผลไม้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ลองกอง มะม่วง กล้วยไข่ สละ สับปะรด ฯลฯ ขี้นชื่อเรื่องรสชาติ และมีเอกลักษณ์เฉพาะ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ นอกเหนือจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยว กับแหล่งอุตสาหกรรมแหล่งผลิตสินค้าส่งออกชั้นนำของประเทศ

หากสามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มจากการผลิต การแปรรูป การตลาด นอกจากภาคการเกษตร ชาวสวนผลไม้ ภาคการประมง จะไม่ถูกโดดเดี่ยวจากที่นโยบายรัฐมุ่งเน้นพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแล้ว ยังตอบสนองนโยบายปั้นประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นครัวโลก หรือเมืองนวัตกรรมอาหารโลก

ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดจันทบุรีให้เป็นมหานครผลไม้ และการผลักดันให้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ เสนอที่ประชุม ครม.สัญจรพิจารณา เมื่อ 5 ก.พ. 2561 จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีและจะส่งผลด้านบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ขณะที่ รมว.อุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน ประกาศจะเดินหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ในนิคม Smart Park บนที่ดิน 1.46 พันไร่ ส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้เป็นตลาดกลางประมูลผลไม้คุณภาพสูง

โปรเจ็กต์ปั้น “มหานครผลไม้” กับ Eastern Fruit Corridor อาจดูสวยหรู และสร้างความหวังให้ชาวสวนภาคตะวันออก แต่สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้แทบทุกฤดูการผลิต การส่งออก การจำหน่ายผลไม้ในตลาดภายในประเทศ หลากหลายปัญหายังรุมเร้า อาทิ ผลผลิตล้นตลาด การถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ปัญหาล้งจีนที่เข้ามารับซื้อโดยตรง รวมทั้งใช้นอมินีคนไทยเป็นตัวแทนตั้งโต๊ะรับซื้อ ฯลฯ

ซึ่งน่าห่วงว่าจะซ้ำรอยลำไยภาคเหนือที่ตลาดรับซื้อส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือพ่อค้าจีน เมื่อเกิดปัญหาผลผลิตลำไยราคาตกต่ำ มาตรการรัฐแทบแก้ไม่ได้ เพราะล้งจีนที่ครอบงำตลาดรวมตัวกันหยุดรับซื้อ


แผนไต่บันไดดาวที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในภาคตะวันออกวาดฝัน เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้สด และผลไม้แปรรูปไปยังตลาดหลัก ทั้งจีน ฮ่องกง เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐ ฯลฯ จาก 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2558 เป็น 1 แสนล้านบาทในปี 2564 จะเป็นจริงได้หรือไม่ ต้องดูผลที่ตามมาหลัง ครม.สัญจรรอบนี้