ค่าไฟแพงข้ามปี ทำธุรกิจไทยช้ำหนัก

ค่าไฟแพง
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ
      ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ในช่วงที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิต มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 3.60 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2564 เป็น 4.16 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2565 โดยมีสาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้อุปทาน (supply) ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียปรับตัวลดลง (รัสเซียเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตราว 17% ของอุปทานทั้งหมดในปี 2564)

ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าอดีตต่อไป

ส่วนในระยะถัดไป ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นในปี 2566-2567 จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้น รวมถึงมาตรการการปรับค่าไฟฟ้าของภาครัฐ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 39% ในปี 2565 เป็น 41% ในปี 2566 เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาที่จะลดลงในปี 2566 ทำให้ Krungthai COMPASS คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 469 บาท/MMBTU ในปี 2566 จาก 456 บาท/MMBTU ในปี 2565

2.Krungthai COMPASS มองว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีแนวโน้มปรับค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง หรืออาจจะทยอยเรียกเก็บเงินเพิ่ม เพื่อลดภาระที่ กฟผ.ได้ทำการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในช่วงก่อนหน้า (ก.ย. 2564-ธ.ค. 2565) ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 1.68 แสนล้านบาท โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในช่วงที่ผ่านมา กฟผ.ช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 0.20 และ 0.65 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2564-2565 ตามลำดับ

จากปัจจัยข้างต้น Krungthai COMPASS ประเมินว่า แนวทางการปรับค่าไฟฟ้าในปี 2566-2567 มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 ค่าไฟฟ้าปรับตามต้นทุนที่เกิดจริง โดยภาครัฐไม่เรียกเก็บเงินเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปี 2566-2567 อยู่ที่ 4.90 และ 4.43 บาทหน่วยไฟฟ้า

กรณีที่ 2 ภาครัฐจะทยอยเรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าไฟฟ้างวดละ 0.33 บาท/หน่วยไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2566-2567 อยู่ที่ 5.23 และ 4.76 บาท/หน่วยไฟฟ้า และกรณีที่ 3 ภาครัฐจะทยอยเรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าไฟฟ้างวดละ 0.67 บาท/หน่วยไฟฟ้า เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2566-2567 อยู่ที่ 5.67 และ 4.43 บาท/หน่วยไฟฟ้า

เมื่อพิจารณาจาก 3 กรณีของแนวทางในการปรับค่าไฟฟ้าของภาครัฐที่กล่าวมาข้างต้น Krungthai COMPASS มองว่า ภาครัฐมีแนวโน้มปรับค่าไฟฟ้า ตามต้นทุนที่แท้จริง แต่จะไม่เรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2566-2567 มีแนวโน้มอยู่ที่ 4.90 และ 4.43 บาท/หน่วยไฟฟ้า เป็นไปตามกรณีที่ 1 เนื่องจากกรณีนี้จะไม่สร้างภาระเพิ่มเติมแก่ กฟผ. และไม่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพมากเกินไป อย่างไรก็ดี ค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นยังคงสร้างแรงกดดันอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในประเทศ

ค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะจุดสูงสุดในปี 2566 ย่อมส่งผลลบต่อผลประกอบการของอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ไฟฟ้า โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ทุก 1% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จะทำให้อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตลดลงประมาณ 0.031%

โดยประเมินว่าหากสัดส่วนระหว่างค่าไฟฟ้าและต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.1% ในปี 2565 และค่าไฟฟ้าเฉลี่ยมีทิศทางตามกรณีที่ 1 จะส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการผลิตลดลงจาก 1.5% ในปี 2565 เป็น 0.9% ในปี 2566 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3% ในปี 2567 ภายใต้สมมุติฐานต้นทุนอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าไฟฟ้าและรายได้คงที่ในช่วงเวลาดังกล่าว


ดังนั้น ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อลดผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง โดย Krungthai COMPASS มองว่า แนวทางที่เหมาะสมมีดังนี้ 1) ติดตั้ง Capacitor Bank ในหม้อแปลงไฟฟ้าของโรงงาน ซึ่งช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าของหม้อแปลงไฟฟ้า ถึง 46% 2) ติดตั้ง Solar Cell ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่ากับปริมาณใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และติดตั้งแบตเตอรี่ Lithium-ion (ESS) ที่จะช่วยกักเก็บไฟฟ้าส่วนเกินในช่วงเวลาที่มีความเข้มแสงเพียงพอต่อการผลิตไฟ (10.00 AM-3.00 PM) เพื่อใช้ในช่วงเวลาอื่น ซึ่งจะทำให้ได้รับประโยชน์จากการติดตั้ง solar cell มากที่สุด