
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ ประชาชาติ
พรรคการเมืองเริ่มปล่อยแคมเปญหาเสียง-ชิงแต้ม ชิงใจประชาชน
นโยบายที่ touch ใจประชาชน ถูกพูดถึงมากที่สุดคือนโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท และปริญญาตรี เงินเดือน 2.5 หมื่นต่อเดือน ภายในปี 2570
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
แม้เจอเสียงสะท้อนบวก-ลบ แต่ในแง่การตลาดการเมืองถือว่า พรรคเพื่อไทย ทำสำเร็จในเที่ยวนี้
เพราะหากพรรคการเมืองอื่นจะเกทับก็ต้องเบิลจำนวนตัวเลขขึ้นไปอีก หากเสนอน้อยกว่าคนก็ไม่พูดถึงและจดจำ
แต่คำถามของการขึ้นค่าแรงในอีก 5 ปีข้างหน้า ในโลกแห่งการใช้ชีวิตจริงก็คือในยุคที่ค่าครองชีพสูงกว่ารายได้ หากปริญญาตรียังตั้งเกณฑ์อยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน และค่าแรง 300 บาทต่อวัน ยังจะจมอยู่ที่เท่าเดิมหรือไม่
เพราะการอยู่ในสังคมเมืองหลวงทุกวันนี้ด้วยเงินเดือน 2 หมื่นบาท ยังต้องประหยัดแล้วประหยัดอีก ในกรณีที่คนชั้นกลางทั่วไปเข้ามาหางานทำใน กทม. เพราะค่าครองชีพเพิ่มทุกวัน แค่ค่าเดินทางโดยรถไฟฟ้าไป-กลับ ก็หมดไปร่วมร้อยบาท
มุมผู้ประกอบการมีข้อถกเถียง…ไม่มีปัญหา แต่วันนี้เรากำลังพูดถึงอุตสาหกรรมยุคใหม่ รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งค่ายสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น เข้ามาตีตลาดในบ้านเรา ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต รัฐบาลเดินหน้าผลักดันเต็มที่ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อีวี
แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมา ในวงจรการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ แรงงานก็ต้องมีศักยภาพสูงตามไปด้วยใช่หรือไม่
ไม่เพียงแต่ในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ด้านการบริการหลังการขาย ศูนย์ซ่อมต่าง ๆ รัฐบาลไทยมีแผน Re-skill แรงงานไทยมากน้อยแค่ไหน เอาเป็นว่าแค่เพียงกรณีฝาครอบแบตเตอรี่ของรถยนต์อีวีค่ายหนึ่งที่ลูกค้าซื้อไปใช้ แล้วเกิดปัญหาที่ฝาครอบแบตเตอรี่ ก็เล่นเอาสะเทือนไปทั้งวงการ ตั้งแต่แบรนด์รถยนต์ การซ่อมยังต้องโอนถ่ายความรู้ไทย-จีน ขยายวงไปถึงวงการประกันภัย
สะท้อนโครงสร้างพื้นฐานรถยนต์อีวีในไทยที่ยังไม่พร้อม ไม่ครบวงจร ทั้งที่เรื่องของรถยนต์อีวีเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับแรงงานไทยในอนาคต
ที่สำคัญโจทย์ใหญ่ยิ่งกว่านั้นคือ รัฐบาลต่อไปจะพัฒนาคน สร้าง “ทุนมนุษย์” อย่างไรให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่ อุตสาหกรรมใหม่
ปี 2565 ที่เมืองไทย เล่นข่าวที่บิ๊กเทคอย่าง “แอปเปิล” ย้ายฐานการผลิตไอโฟนไปเวียดนาม
แต่ 7 ปีที่แล้ว หนึ่งปีให้หลังการยึดอำนาจ 2557 เวียดนามได้เริ่มโครงการ Saigon Silicon City ตามแบบ Silicon Valley โดยมีต้นตำรับสหรัฐเป็นแบ็กอัพ
ขณะที่โครงการอีอีซีของไทย ออกสตาร์ตช้ากว่าไปมาก เริ่มต้นในปี 2561 โดยมี EECi เมืองนวัตกรรมเป็นความภาคภูมิใจของนายกฯอยู่ในนั้น
ไม่นานมานี้ Vingroup บริษัทยักษ์ใหญ่ของเวียดนามประกาศสร้าง Silicon Valley อีกแห่ง ส่วนรัฐบาลก็สนับสนุนเต็มที่
เวียดนามชัดเจน ปักธงเป็นชาตินวัตกรรม-สตาร์ตอัพ-เศรษฐกิจดิจิทัล
จึงย้อนกลับมาที่ค่าแรง 600 บาท ปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน ถ้ารัฐบาลหน้า อัพสกิล รีสกิล คนไทยจริงจัง รายได้ที่ประกาศไว้ไม่ไกลเกินความเป็นไปได้ ขึ้นกับรัฐบาลจะวาง position ไทย เศรษฐกิจไทย อุตสาหกรรมไทยไปทางไหน
เพราะยุคนี้เป็นยุคมันมากกว่ายุค R&D แต่เป็น L&D (learning and development)