แรงต้านขึ้นค่าไฟฟ้า

ค่าไฟ
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นและหนักขึ้นจากหลากหลายกลุ่ม กรณีเตรียมขึ้นค่าไฟฟ้าในวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นผลมาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่า Ft งวดที่ 1/2566 เดือนมกราคม-เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่อัตรา 93.43 สตางค์/หน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ที่อัตรา 190.44 สตางค์/หน่วย

ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มบ้านอยู่อาศัยเรียกเก็บในอัตราเดิม 4.72 บาท/หน่วย แต่ค่าไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ตั้งแต่กิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ ตลอดจนโรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ถูกปรับขึ้นเป็น 5.69 บาท/หน่วย ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการขอให้รัฐช่วยเบรกขึ้นค่าไฟฟ้า หรือมีมาตรการช่วยเหลือ

พร้อมระบุว่าหากใช้ค่าไฟใหม่จะทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น จำเป็นต้องปรับราคาสินค้า-บริการ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ว่าค่าไฟฟ้าใหม่ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-12%

               

ส.อ.ท.ยังประเมินการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมในอัตราที่สูงติดต่อกัน 2 งวด ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้าและบริการต้องปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามไปด้วย คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.8% กระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน และภาคอุตสาหกรรมจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านลงทุนและส่งออก เนื่องจากต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย

ไม่เพียงกลุ่มผู้ประกอบการเท่านั้น หากแต่ภาคประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวเช่นกัน เพราะแม้รัฐบาลยังมีมาตรการเยียวยาประชาชน เช่นกลุ่มเปราะบางใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ยังจ่ายในราคาเดิม แต่บ้านเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามากกว่านั้นอาจมีมาตรการด้านอื่น โดยเดิมหากใช้ไฟฟ้า 300-500 หน่วย/เดือน รัฐยังมีมาตรการช่วยเหลือ แต่จะสิ้นอายุวันที่ 31 ธันวาคม 2565

โดยครัวเรือนที่ใช้ไฟระหว่าง 300-500 หน่วย/เดือน หากเป็นบ้านที่ติดแอร์ 1 เครื่อง กรณีเปิดแอร์ทุกวันอาจใช้ไฟเกินแล้ว ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเมื่อถึงงวดวันที่ 1 มกราคม 2566 รัฐจะช่วยเหลือมากน้อยขนาดไหน นี่ยังไม่นับผลกระทบทางอ้อมจากราคาสินค้า-บริการ ที่ดูแนวโน้มแล้วปรับขึ้นอีกระลอกตั้งแต่ต้นปี 2566 จากในปี 2565 ที่ทยอยขึ้นมาแล้วหลายครั้ง

การดาหน้าออกมาคัดค้านการขึ้นค่าไฟฟ้า เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะเดือดร้อนไปทุกภาคส่วน ขณะที่ภาครัฐแม้ทางหนึ่งจะอ้างเรื่องต้นทุน แต่อีกทางต้องดูแลค่าครองชีพของประชาชนมิให้สูงเกินไป เพราะทุกวันนี้ประชาชนบางส่วน รวมถึงกิจการขนาดเล็ก-กลาง รายรับแทบไม่พอรายจ่ายอยู่แล้ว จึงต้องดูท่าทีผู้มีอำนาจว่าจะตัดสินใจเช่นใดในสถานการณ์ที่มีเสียงคัดค้านรอบด้าน แถมใกล้การเลือกตั้งใหญ่อีกด้วย