“สภาท่องเที่ยว” ไม่ควรให้ “การเมือง” แทรก

สภาท่องเที่ยว
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
        [email protected]

วันที่ 3 มกราคม 2566 นี้ เป็นวันเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) วาระปี 2566-2567

และค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าเลือกตั้งรอบนี้มีแค่ “โกจง-ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” อดีตประธาน สทท. และ “โก้-ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เพียง 2 คนเท่านั้นที่ลงชิงตำแหน่ง

โดยช่วงนี้ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง 2 คนต่างปล่อยกลยุทธ์การหาเสียง พร้อมเปิดหน้าผู้สนับสนุนกันไปแล้ว

เรียกว่า ยิ่งเข้าสู่โค้งสุดท้าย ยิ่งเข้มข้น

“โกจง-ชำนาญ” ประกาศเปิดตัวผู้สนับสนุนจากทุกภูมิภาค ทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ตะวันออก ออกมาแบบรัว ๆ พร้อมชูจุดขาย “ตัวจริงท่องเที่ยวไทย”

ขณะที่ “โก้-ภูมิกิตติ์” นอกจากจะเปิดหน้าผู้สนับสนุนจากสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ และชูจุดขายในประเด็น “การเปลี่ยนผ่านให้การท่องเที่ยวไทยสู่ความมั่นคง สมดุล และยั่งยืน” แล้ว ยังเปิดตัวผู้สนับสนุนหลักอย่าง “วิจิตร ณ ระนอง” และ “กงกฤช หิรัญกิจ” อดีตประธาน สทท.ด้วย

แบบว่า… ต่างคนต่างมั่นใจ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ถือเป็นวิถีปกติของการหาเสียง รักใคร ก็สนับสนุนคนนั้น

แต่ที่ดูแล้วไม่ค่อยปกติและส่งกลิ่นไม่ค่อยดีนัก สำหรับการเลือกตั้งรอบนี้คือ มีกระแสข่าวลือสะพัดหนักมากว่า มี “การเมือง” เข้ามาเอี่ยว

โดยระบุว่า “โกจง-ชำนาญ” อดีตประธาน สทท. มีพรรค “สร้างอนาคตไทย” ของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์-อุตตม สาวนายน” อยู่เบื้องหลัง

ขณะเดียวกันก็ระบุว่า “โก้-ภูมิกิตติ์” ผู้ท้าชิง มีพรรค “ภูมิใจไทย” โดยรัฐมนตรีพิพัฒน์ รัชกิจประการ ซัพพอร์ตอยู่ข้างหลัง

เท็จจริงหรือไม่…เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีข้อมูลกันอยู่แหละ

ผู้คลุกคลีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลายรายวิเคราะห์ว่า เกมนี้เหตุจาก “โกจง-ชำนาญ” เคยเปิดบ้าน (สภาท่องเที่ยว) รับพรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งอาจทำให้ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” แห่ง “พรรคภูมิใจไทย” ที่คุมกระทรวงการท่องเที่ยวฯอยู่คงไม่ปลื้มนัก

ข่าว “การเมือง” เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งนี้จึงดูมีที่มาที่ไป และทำให้หลายคนเป็นห่วงว่า จะทำให้เสียงของภาคเอกชนถูกครอบงำ และทำให้นโยบายต่าง ๆ ที่จะออกมาผิดเพี้ยนจากความน่าจะเป็น

เพราะสภาท่องเที่ยวคือ ตัวแทนภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว และต้องส่งตัวแทนไปร่วมทำโรดแมปด้านนโยบายกับภาครัฐอีกหลายหน่วยงาน เช่น บอร์ด ททท., กรรมการธุรกิจนำเที่ยวฯ, คณะกรรมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฯลฯ รวมถึงคณะทำงานอื่น ๆ อีกหลายส่วน

ที่สำคัญ ถ้าเป็นจริงตามข่าวลือ ไม่ว่าใครชนะ ก็น่าจะทำงานร่วมกับภาครัฐต่อไปยากเช่นกัน

กล่าวคือ หาก “โกจง-ชำนาญ” ชนะ การทำงานร่วมกับรัฐมนตรี ซึ่งยังสังกัดพรรคภูมิใจไทยอาจไม่ราบรื่นนัก

หรือหาก “โก้-ภูมิกิตติ์” ชนะ ถ้าเลือกตั้งครั้งใหม่ “ภูมิใจไทย” ไม่มาก็อาจทำให้การทำงานต่อไม่ราบรื่นได้เช่นกัน

ดังนั้น อยากฝากถึง “คนท่องเที่ยว” ว่า ใด ๆ ก็ตาม ไม่ควรให้ “การเมือง” เข้ามาครอบงำ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ “การเมือง” ไม่ควรเข้ามาแทรกแซงการทำงานของภาคเอกชน..