เศรษฐกิจกำลังฟื้น แรงงานไทยเมื่อไหร่จะฟื้น ?

ภาพจาก www.doe.go.th

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย กระแสร์ รังสิพล Economic Intelligence Center

ช่วงนี้หลายสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังมองภาพเศรษฐกิจไทยในแง่บวกมากขึ้นเรื่อย ๆ สังเกตได้จากการออกมาปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเห็นการฟื้นตัวในหลาย ๆ ด้านของการใช้จ่าย ทั้งการส่งออกสินค้าที่เติบโตดีกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรก็ฟื้นตัว การท่องเที่ยวก็กลับมาขยายตัว ด้านยอดขายรถในประเทศก็เพิ่มขึ้นมากจากปีก่อน

แต่ในขณะที่เศรษฐกิจในฝั่งการใช้จ่ายกำลังขยายตัวนั้น เมื่อไปมองในฝั่ง “ตลาดแรงงาน” เรากลับเห็นภาพที่ค่อนข้างขัดแย้ง ยอดการจ้างงานในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 ยังคงหดตัวต่อเนื่องโดยลดลงราว 2.1 แสนคน หรือคิดเป็น -0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อความต้องการแรงงานลดน้อยลงก็ส่งผลให้ค่าจ้าง โดยเฉลี่ยในช่วงเดียวกันก็ลดลงเช่นกันที่ราว -0.7% เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิดเป็นข้อสงสัย ว่าทำไมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจถึง (ยัง) ไม่นำไปสู่การขยายตัวของตลาดแรงงาน ?

มีหลายความเห็นกล่าวโทษไปถึงการนำ “หุ่นยนต์” มาใช้ หรือการหันไปจ้าง “คนต่างด้าว” ที่ทำให้แรงงานไทยตกงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นหลักฐานที่รองรับกับประเด็นดังกล่าวเท่าใดนัก เพราะเมื่อไปดูตัวเลขสถิติแรงงานต่างด้าวจากกรมการจัดหางานในช่วงเดียวกัน พบว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวก็ลดลงเช่นกัน โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีลดลงเฉลี่ย 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าลดลงในอัตราที่มากกว่าแรงงานไทยเสียด้วยซ้ำ

ในขณะเดียวกันการหายไปของการจ้างงานก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มอาชีพงานที่สามารถทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์เท่านั้น จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าการจ้างงานในช่วง 4 เดือนแรกลดลงทั้งในกลุ่มแรงงานใช้ฝีมือและแรงงานขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ การที่ภาคเอกชนไม่ได้ขยายการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมาเป็นเวลานานก็เป็นอีกเครื่องบ่งชี้ว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ก็คงไม่ได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วมากนักในช่วงที่ผ่านมา

คิดว่าการฟื้นตัวแบบไร้การจ้างงานที่เห็นอยู่ในปัจจุบันกลับน่าจะมีสาเหตุสำคัญมาจากลักษณะของการฟื้นตัวในปัจจุบันที่ยังไม่ได้ส่งผลดีต่อตลาดแรงงานโดยตรงมากนัก เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้ใช้แรงงานในการผลิตมาก เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวถึง 10% แต่การผลิตนั้นกลับมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมเพียง 4% เช่นเดียวกันกับกลุ่มพลังงานและกลุ่มเคมีภัณฑ์ ที่ก็มีการขยายตัวด้านการส่งออกในระดับสูงที่ 40% และ 12% ตามลำดับ แต่กลับใช้แรงงานน้อย โดยมีต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมเพียง 2% และ 8% ตามลำดับ นอกจากนี้ กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเองส่วนใหญ่ก็ยังคงมีเหลือเพียงพอ ทำให้ทรัพยากรในปัจจุบันสามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อในช่วงเริ่มฟื้นตัวได้โดยไม่ต้องลงทุนหรือจ้างงานเพิ่ม

ส่วนในภาคเกษตรกรรมเอง ก็มีลักษณะการฟื้นตัวที่ไม่ตกถึงแรงงานส่วนใหญ่เช่นกัน กล่าวคือ มีเพียงสินค้าเกษตรบางชนิดเท่านั้นที่มีราคาที่เติบโตสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้เกษตรกรในกลุ่มดังกล่าวพอจะลืมตาอ้าปากได้ สินค้าเหล่านั้นได้แก่ ยางพารา อ้อย ปาล์ม แต่สินค้าเหล่านี้ใช้แรงงานเกษตรกร 3 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 1 ใน 4 ของแรงงานในภาคเกษตรเท่านั้น ขณะที่พืชอย่างข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ที่ใช้แรงงานจำนวนมากถึงราว 6 ล้านคน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของแรงงานในภาคเกษตรทั้งหมด ยังคงเผชิญกับสภาวะราคาตกต่ำเช่นเดิม

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ขาดหายไปที่ทำให้ตลาดแรงงานดูซบเซาลงในช่วงที่ผ่านมา คือแรงกระตุ้นของภาครัฐ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการของภาครัฐในช่วงปีที่ผ่านมามีส่วนสำคัญทั้งในทางตรงและทางอ้อมต่อสภาวะตลาดแรงงานของไทย

ในทางตรงภาครัฐได้อัดฉีดเม็ดเงินขนาดใหญ่กระจายไปตามต่างจังหวัด ผ่านทั้งมาตรการลงทุนขนาดเล็ก มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ทั้งระดับหมู่บ้านและตำบล รวม ๆ กันแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งนับว่าก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่แล้ว ประกอบกับภาครัฐยังได้มีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการลดค่าธรรมเนียมการโอนที่มีผลให้ผู้พัฒนาอสังหาฯรายต่าง ๆ เร่งสร้างโครงการเพื่อให้ทันใช้สิทธิ์มาตรการดังกล่าว ซึ่งส่งผลทางอ้อมให้ความต้องการแรงงานก่อสร้างในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน

แต่เมื่อภาครัฐเริ่มถอนคันเร่งการกระตุ้นผ่านมาตรการในลักษณะดังกล่าวลงหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการแรงงานก่อสร้างทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจึงลดหายไปตามกัน เป็นเหตุให้ภาคการก่อสร้างเป็นภาคที่มีการลดลงของการจ้างงานมากที่สุดในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คือหายไปราว 2.9 แสนคนจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี ส่วนที่ยังคงหล่อเลี้ยงตลาดแรงงานไทยในช่วงนี้ก็คือ ภาคบริการ (ที่ไม่รวมการก่อสร้าง) เพราะธุรกิจหลายประเภทยังขยายตัว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการค้าส่งค้าปลีก นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกยังมีแผนขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ธุรกิจด้านการขนส่งก็ยังเติบโตตามการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและการค้าขายแบบอีคอมเมิร์ซ ซึ่งธุรกิจต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้แรงงานในการขับเคลื่อนทั้งสิ้น แต่กระนั้นการขยายตัวของการจ้างงานในภาคบริการก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับการลดลงของการจ้างงานในภาคอื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมาได้

นอกจากความซบเซาของตลาดแรงงานบ้านเราในช่วงนี้ ที่มีแรงฉุดมาจากฝั่งอุปสงค์อย่างที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นแล้ว อีกสาเหตุที่น่ากังวลไม่น้อยไปกว่ากัน คือข้อจำกัดในฝั่งอุปทานของแรงงานจากความไม่สอดคล้องกัน ระหว่างทักษะแรงงานกับความต้องการของนายจ้าง (Skill Mismatch)

เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ทางอีไอซีเคยทำการสำรวจบริษัทจำนวน 222 รายใน 6 อุตสาหกรรมหลักเกี่ยวกับประเด็นแรงงาน ซึ่งการสำรวจนั้นพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจนั้นประสบปัญหาจากการที่ไม่สามารถหาแรงงานได้ เพราะทักษะแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของบริษัท ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดการว่างงานได้แม้ตลาดจะมีความต้องการแรงงานอยู่ก็ตาม ซึ่งคิดว่านี่อาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและแรงงานก่อสร้างที่ตกงานในช่วงนี้ ไม่สามารถหางานในภาคบริการที่กำลังขยายตัวได้

แล้วแรงงานไทยเมื่อไหร่จะฟื้น ?

แรงฉุดจากฝั่งอุปสงค์ต่อแรงงาน น่าจะผ่อนคลายลงเป็นลำดับในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จากการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ จากงบฯกลางของภาครัฐที่น่าจะทำให้ความต้องการแรงงานก่อสร้างกลับมาคึกคัก และหากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสามารถยืนระยะไปต่อได้ ความต้องการแรงงานในภาคการผลิตก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ตลาดแรงงานไทยกลับมาฟื้นได้ในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวตลาดแรงงานไทยน่าจะยังติดขัดกับปัญหาทางฝั่งอุปทาน ที่ไม่น่าจะคลี่คลายได้เร็วนัก เนื่องจากปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่สอดคล้องต้องอาศัยการฝึกอบรมแรงงานและการปรับระบบการศึกษาให้เอื้ออำนวยต่อความต้องการของนายจ้างมากขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลานานในทางปฏิบัติ ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่แรงงานบางส่วนอาจตกงานได้แม้แรงฉุดจากฝั่งอุปสงค์จะผ่อนคลายลงก็ตาม

ยิ่งในช่วงที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันอุตสาหกรรมใหม่เพื่อหา New S-Curve ของเศรษฐกิจไทย ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะนี้ยิ่งจะเด่นชัดขึ้นไปอีก เพราะธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ล้วนแล้วแต่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ต้องพูดถึงทักษะพื้นฐานอย่างการคิดวิเคราะห์ หรือความสามารถด้านภาษาต่างประเทศที่จำเป็นต้องใช้ในธุรกิจปัจจุบันอยู่แล้ว

คำถามสำคัญที่เราต้องตอบให้ได้ คือไทยจะเตรียมความพร้อมอย่างไรในด้านแรงงานเพื่อที่จะรองรับการเติบโตในอนาคตที่ทักษะแรงงานจะเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต เพราะการมุ่งไปข้างหน้าโดยไม่มีความพร้อมในด้านแรงงานนั้น จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้ยากลำบากหรือกระทั่งไม่อาจดึงดูดธุรกิจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ได้อย่างที่หวังเอาไว้


ที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานที่ไม่เป็นที่ต้องการของนายจ้างก็จะต้องตกงานเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นจะนำไปสู่ปัญหาความซบเซาด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคต่อไป กลัวว่าปัจจัยแรงงานนี้อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวอยู่นี้ กลับมาสะดุดลงก็เป็นได้