ฟ้อง “บิ๊กเทค” จำเลยภัยร้ายต่อเด็ก

โซเชียลมีเดีย
pixabay
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

คดีฟ้องร้องกับบิ๊กเทคดูจะเป็นของคู่กัน แต่ล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่ผู้ฟ้องไม่ใช่คู่แข่งทางธุรกิจ หรือผู้คุมกฎ แต่กลับเป็นโรงเรียนที่ฟ้องบริษัทเจ้าของโซเชียลมีเดีย ข้อหาเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตสุขภาพจิตในเด็กนักเรียน และทำให้โรงเรียนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในการให้การศึกษากับเยาวชนได้เต็มประสิทธิภาพ

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่เขตการศึกษาประจำเมืองที่มีโรงเรียนในสังกัดกว่า 100 แห่ง และดูแลเด็กนักเรียนกว่า 5 หมื่นคนในซีแอตเติล ตัดสินใจจัดการกับบิ๊กเทค โซเชียลมีเดียทั้ง Alphabet (Google, YouTube) Meta (Facebook, Instagram), Snap (Snapchat) และ ByteDance (TikTok)

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต้นเดือนมกราคมไม่ใช่เพียงเพราะเป็นคดีแรกที่โรงเรียนเป็นโจทย์ยื่นฟ้องบิ๊กเทค แต่เพราะเป็นความท้าทายใหม่ที่บิ๊กเทคต้องรับมือ

               

หลังจากมีอดีตพนักงาน Meta ออกมาแฉว่าผู้บริหารปล่อยให้แพลตฟอร์มเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เช่น คอนเทนต์การลดน้ำหนักแบบผิด ๆ ก่อให้เกิดกระแสคลั่งผอมในวัยรุ่น

นับจากนั้น คณะกรรมาธิการของรัฐสภาก็เรียกบิ๊กเทคเจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ มาสอบถาม พร้อมกดดันให้หาทางแก้ ขณะเดียวกัน CBSnews.com รายงานว่า เมื่อช่วงปี 2021 มีผู้ปกครองกว่า 1,200 ครอบครัวในอเมริกายื่นฟ้องบิ๊กเทคเจ้าของแพลตฟอร์ม TikTok Snapchat YouTube Roblox Facebook และ Instagram หลังพบว่าลูกของตัวเองเสพติดโซเชียลจนซึมเศร้าและบางรายถึงขั้นฆ่าตัวตาย

เขตการศึกษาซีแอตเติลระบุในคำฟ้องว่า บริษัทเจ้าของโซเชียลมีเดียใช้ความเปราะบางของเด็กเป็นเครื่องมือในการสร้างกำไร และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตสุขภาพในเยาวชน โดยเด็กที่มีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และอาการทางจิตอื่น ๆ มีแนวโน้มจะหยุดเรียนและหันมาเสพยาเสพติดสูงกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งทางเขตขอให้ศาลสั่งลงโทษเจ้าของแพลตฟอร์ม ในฐานะสร้างความเดือดร้อนให้สาธารณะ รวมทั้งให้จ่ายค่าเสียหาย พร้อมจัดตั้งกองทุนเพื่อป้องกันและรักษาปัญหาสุขภาพในเด็กต่อไป

ในบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมด TikTok ดูจะเป็นที่จับตามากที่สุดในสายตานักจิตวิทยา ที่มองว่า TikTok อาจมีผลต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น เพราะมีระบบอัลกอริทึ่มที่ฉลาดมากในการเสาะหาคอนเทนต์ที่โดนใจมาป้อนผู้ใช้งานแต่ละรายแบบ nonstop รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นหนึ่งในผู้ใช้งานกว่าพันล้านคนที่ต้องดู TikTok เฉลี่ยวันละชั่วโมงครึ่งทุกวัน (ข้อมูล :SensorTower)

จีน ทเวน นักจิตวิทยาบอกกับ CNN ว่า ความน่ากลัวของ TikTok คือ การเสพติดที่สร้างขึ้นในกลุ่มผู้ใช้งาน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ยิ่งใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีอาการซึมเศร้าก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม TikTok ยืนยันกับสื่อว่า บริษัทพยายามพัฒนาเครี่องมือเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานของเยาวชน เช่น จำกัดเวลาการใช้งาน และเครื่องมือที่ให้ผู้ปกครองควบคุมการใช้งานของเด็ก ๆ ได้ นอกจากนี้ บริษัทยังกำจัดวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองและการฆ่าตัวตายออกจากระบบไปแล้ว 94.3% ระหว่างเมษายน-มิถุนายน 2022

แม้ผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนจะทวีความรุนแรงขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนมากมาย ซึ่งรวมถึงเยาวชนด้วย

โดยเฉพาะเด็ก Gen Z ที่เกิดและโตมาพร้อม TikTok ยังพบโอกาสสร้างรายได้ใหม่ ๆ ผ่านแพลตฟอร์มนี้ เช่น ฮันนาห์ วิลเลี่ยมส์ ที่โด่งดังจากการทำคอนเทนต์ภายใต้ชื่อ Salary Transparent Street ที่ถามคนบนท้องถนนว่าทำงานอะไรและได้เงินเดือนเท่าไหร่ เพื่อจะได้รู้รายได้เฉลี่ยของอาชีพนั้น ๆ ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นการสร้างความโปร่งใสในแง่ของรายได้ทางหนึ่ง ปัจจุบันฮันนาห์มีคนติดตามกว่า 1 ล้านคน หลังจากตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อเริ่มทำช่อง TikTok ของตัวเอง และมีรายได้กว่า 6 แสนเหรียญแล้ว

ในขณะที่การถกเถียงเรื่องข้อดีข้อเสียของโซเชียลมีเดียยังคงดำเนินต่อไป สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ความอดทนของผู้ปกครองและโรงเรียนกำลังลดลงเรื่อย ๆ

การตอบโต้ที่พวกเขาทำได้คือ การแบนโซเชียลมีเดียในโรงเรียน (ซึ่งใช้ไม่ได้ผลในความเป็นจริง) และการฟ้องร้องซึ่งจะได้ผลกว่าหรือไม่ก็ยังเป็นคำถาม เพราะขนาดโดนปรับเป็นเงินรวมกันกว่า 3 พันล้านเหรียญเมื่อปีก่อน (ส่วนมากในประเด็นผูกขาดการแข่งขันและละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค-ข้อมูล : Proton.com) บริษัทอย่าง Google Meta Apple และ Amazon ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนเท่าไร

แม้การต่อสู้อาจไม่สามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อเครื่องมือที่คนธรรมดาจะใช้ต่อกรกับบิ๊กเทคจำกัดจำเขี่ยเหลือเกิน