ปรับทิศท่องเที่ยวปี’66 โฟกัส Hight Value & Sustainable

ททท.

รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้วางนโยบายในการ “พลิกโฉมประเทศไทย” เพื่อให้ประเทศไทยได้เข้าสู่วิถีใหม่ในทุกมิติ และพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวของประเทศด้วยการประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564

พร้อมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด ปีท่องเที่ยวไทย 2565 Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters

และดำเนินงานต่อเนื่องในปี 2566 ในชื่อ ปีท่องเที่ยวไทย 2566 Visit Thailand Year 2023 : Amazing New Chapters เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ นำรายได้เข้าประเทศ และประกาศความพร้อมของประเทศไทยในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“การท่องเที่ยว” เครื่องยนต์ขับเคลื่อน ศก.

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ปีท่องเที่ยวไทย 2565 Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ประเทศไทยได้รับความสนใจจากนานาชาติ จากการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

การผ่อนคลายมาตรการเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่น การขยายระยะเวลาฟรีวีซ่า จาก 30 วัน เป็น 45 วัน ขยายวีซ่า VOA จาก 15 วัน เป็น 30 วัน และกิจกรรมที่นับว่าช่วยตอกย้ำความพร้อมของประเทศในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกคือ กิจกรรมเคานต์ดาวน์ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2023 ณ ไอคอนสยาม ซึ่งถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลกผ่านสื่อระดับโลกอย่าง CNN

ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11.8 ล้านคน คนไทยเที่ยวในประเทศจำนวน 189 ล้านคน-ครั้ง โดยเบื้องต้นคาดว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวน่าจะบรรลุเป้าหมาย 1.5 ล้านล้านบาทแน่นอน

สำหรับปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด Visit Thailand Year หรือปีท่องเที่ยวไทย 2566 Visit Thailand Year 2023 : Amazing New Chapters นั้น ททท.มีแผนจะทำให้ “การท่องเที่ยว” ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทำให้ธุรกิจและรายได้ของประชาชนกลับมาอีกครั้ง

ปี’66 จุดเริ่มต้นก้าวสู่คุณภาพและมีความยั่งยืน

“ยุทธศักดิ์” บอกว่า ในปี 2566 นี้ ททท.ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในภาคการท่องเที่ยว ในด้านการกระตุ้นดีมานด์ (Drive Demand) โดยเน้น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณ (Value over Volume) 2.ทุ่มกระตุ้นตลาดในประเทศต่อเนื่อง (Boost Domestic Market) และ 3.ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ (Sustainable and Responsible Tourism)

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับห่วงโซ่อุปทาน (Shape Supply) ด้วยการมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว โดยใช้ Soft Power (5F : Food Festival Film Fight Fashion) มาทำให้เกิดประสบการณ์การท่องเที่ยวเหนือระดับ มีความหมายมากขึ้น และเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาสัมผัสประเทศไทยมากขึ้น

เรียกว่า ไม่ใช่แค่สร้างดีมานด์เท่านั้น แต่จะเป็นปีที่เป็นจุดเริ่มต้นและก้าวไปสู่คุณภาพและความยั่งยืนมากขึ้น (High Value and Sustainable Tourism) เพื่อให้ “การท่องเที่ยว” สามารถขับเคลื่อนทั้ง GDP และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศและคนไทยต่อไป

โดย ททท.ได้ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวสำหรับปี 2566 รวมที่ 2.4 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 25 ล้านคน โดย 1 ในกลยุทธ์ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อไปคือ มาตรการขยายระยะเวลาฟรีวีซ่าจาก 45 วัน เป็น 60 วัน และวีซ่า VOA จาก 15 วัน เป็น 30 วัน ซึ่งขณะนี้ ททท.อยู่ระหว่างการพิจารณาผลตอบรับ และมีแผนจะนำเสนอให้รัฐบาลต่อมาตรการดังกล่าวที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้ออกไปถึงสิ้นปี 2566

“จีน-มาเลย์-เกาหลีใต้-อินเดีย” 4 ตลาดทะลุ 1 ล้านคน

“ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า สำหรับตลาดระยะใกล้ หรือ short haul market นั้น ในปี 2565 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จำนวน 7.983 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 67.55% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด

ขณะที่ในปี 2566 นี้ ททท.วางกลยุทธ์ “The Great Resumption II” หรือการกลับมาอย่างรวดเร็วและยิ่งใหญ่ เป็น Episode II หรือภาค 2 โดยกำหนดทิศทางกลยุทธ์การตลาดไว้ 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1.China is Back! ประเทศจีนกลับมาแล้ว และการกลับมาครั้งนี้ต้องไม่เหมือนเดิม ททท.จะเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพมากขึ้น พร้อมตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งปีจำนวน 5 ล้านคน

ทั้งนี้ ททท.มีแผนจะร่วมมือกับ 5 สำนักงานในประเทศจีนจัดกิจกรรมทางการตลาด ภายใต้คอนเซ็ปต์ Two Land One Heart และขับเคลื่อนพร้อมกันทั้ง 5 ตลาด และผนึกแพลตฟอร์มระดับโลกของจีน อาทิ Ctrip, piggy, Quner ฯลฯ ทำการตลาดทั่วโลก ร่วมกับการใช้เซเลบริตี้ หรืออินฟลูเอนเซอร์ ผู้มีชื่อเสียงร่วมโปรโมตการท่องเที่ยวไทย

รวมถึงทำงานร่วมกับสายการบิน เพื่อให้เที่ยวบินกลับมาให้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากปัจจุบันเที่ยวบินระหว่างจีนและไทยมีจำนวนประมาณ 30% ของก่อนการระบาดโควิด ซึ่งถือว่าน้อยมาก

2.ตั้งเป้า 4 ตลาดการท่องเที่ยวระดับ “7 Digits” หรือตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวทะลุล้านคน ได้แก่ จีน ประมาณ 5 ล้านคน มาเลเซีย 4 ล้านคน อินเดีย 2 ล้านคน และเกาหลีไต้ 1.1-1.2 ล้านคน

3.จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดแบบเท่ ๆ เพื่อให้แบรนด์ประเทศไทยเข้าใกล้ผู้บริโภคเป้าหมายทั้ง On ground และ Online/ Virtual ในคอนเซ็ปต์ Color You Life by Amazing Thailand เช่น จัดกิจกรรมแคมปิ้งเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมีศักยภาพการใช้จ่ายสูง

4.Responsible Tourism ส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบมากขึ้น และ 5.Second Tier Second to None เพิ่มโอกาสทางการตลาดขยายพื้นที่เป้าหมายไปยังเมืองรองของประเทศไทย และขยายตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ในเมืองรองของประเทศต่าง ๆ อาทิ เกาหลี จีน อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย

ทั้งนี้ ตั้งเป้าตลาดการท่องเที่ยวระยะใกล้สำหรับปี 2566 ว่าจะนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 72% จากเป้านักท่องเที่ยวรวม 25 ล้านคน และสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 62% จากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด (2.4 ล้านล้านบาท)

หนุนไทยเที่ยวได้ทั้งปี ตอบโจทย์ทุกกลุ่ม ทุกช่วงเวลา

ขณะที่ “ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร” รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่าจะเน้นกลยุทธ์ที่เรียกว่า fast forward พลิกฟื้นการท่องเที่ยวด้วยกลยุทธ์ A B C D ประกอบด้วย A : Airline focus เน้นการดำเนินงานร่วมกับสายการบิน เพื่อขับเคลื่อนเส้นทางบินตรงใหม่ เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินตรง รวมทั้งร่วมกับสายการบินหลักในตะวันออกกลางอย่าง Emirates, Qatar Airway, Etihad และ Oman Air อย่างต่อเนื่อง

B : Big Cities and Beyond คือขยายโอกาสทางการตลาดไปยังพื้นที่ต้นทางใหม่ ๆ

ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เช่น กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย และกรุงโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย เป็นต้น C : Collaboration is Key คือการร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ในพื้นที่ตลาด เช่น สายการบิน Delta, Air Canada, FlyDubai, Aeroflot หรือ Online Travel Agency อย่าง Almosafer, SAGA Holidays

และ D: Destination for All คือทำให้ประเทศไทยเป็น All Year-Round Destination หรือเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มและทุกช่วงเวลา ทั้งกลุ่ม Family หรือกลุ่ม Medical and Wellness ในยุโรปและตะวันออกกลาง หรือกลุ่ม LGBTQ ในตลาดยุโรปและอเมริกา

“โจทย์ของเราคือทุกสำนักงานในพื้นที่ต้องมีพันธมิตรใหม่อย่างน้อย 1 ราย ทำให้ทุกเดือนมีสายการบินเปิดเส้นทางใหม่ ๆ เข้ามาเติมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเที่ยวบินจากยุโรปมีอัตราการเติบโตถึง 70-80% จากตารางบินฤดูร้อนก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีส่วนของสายการบินที่ให้บริการแบบชาร์เตอร์ไฟลต์อีกจำนวนหนึ่งด้วย”

“ไทยเที่ยวไทย Limited Edition” ปลุกเที่ยวในประเทศ

สำหรับตลาดในประเทศนั้น “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. บอกว่าความท้าทายคือ ขณะนี้ทุกประเทศเปิดแล้ว คนไทยก็อยากไปเที่ยวต่างประเทศเช่นกัน ดังนั้น ทุกสำนักงานในประเทศทั้ง 5 ภาคจะต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อช่วงชิงนักท่องเที่ยวให้เดินทางภายในประเทศและเดินทางข้ามภาคให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวในปีนี้จำนวน 250 ล้านคน-ครั้ง

สำหรับกลยุทธ์นั้น ททท.จะมุ่งพลิกโฉมไทยเที่ยวไทย ภายใต้แคมเปญ “ไทยเที่ยวไทย Limited Edition 2023” เพื่อให้เกิดความประทับใจและบอกต่อได้ ด้วยการดันจุดแข็งของ Soft Power (5F) มาเป็นจุดขาย สร้างสรรสินค้าด้วยเมนูประสบการณ์มิติใหม่ที่มีความหลากหลาย และบูรณาการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกมิติด้านการท่องเที่ยว เพื่อบอกว่า “ประเทศไทย” เที่ยวได้ทุกวัน


โดยมีเป้าหมายทำให้นักท่องเที่ยวมีความสุขจากการเที่ยว ผู้ประกอบการมีความสุขจากรายได้ คนในพื้นที่มีความสุขจากการได้ต้อนรับและมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น