
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์
ช่วงนี้หลายมหา’ลัยเริ่มทยอยประกาศผลสอบรอบพอร์ตโฟลิโอกันบ้างแล้ว
เชื่อว่าน้อง ๆ ชั้น ม.6 หลายคน รวมถึงบางครอบครัวคงสมหวังกับสิ่งที่ลูก ๆ หลาน ๆ ของตัวเองประสบผลสำเร็จดั่งที่ตั้งใจ แต่กระนั้นก็มีน้อง ๆ หลายคนอาจไม่สมหวัง เพราะไม่สามารถช่วงชิงเก้าอี้ในคณะที่ตัวเองชื่นชอบได้
- วิกฤตหรือไม่วิกฤต คำตอบผู้ว่าการ ธปท.
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
ผมได้แต่คิดในใจ…ไม่เป็นไรหรอกลูก
ยังมีอีกตั้ง 3 รอบ คือ โควตา, แอดมิชชั่น และสอบตรง ทั้งยังเชื่อว่าอย่างไรเสีย ลูก ๆ หลาน ๆ ของแต่ละครอบครัวน่าจะสอบติดมหา’ลัยรัฐสักแห่งหรอก เพราะจำนวนเด็กนักเรียนน้อยลงเรื่อย ๆ ถ้าไม่ไปแย่งกันสอบเข้าในคณะยอดฮิตที่มีคนสมัครกันเยอะ ๆ
คะแนนสูง ๆ
มหา’ลัยดัง ๆ…ยังไงต้องสอบติดแน่
ผ่านมาหลายสิบปี นับแต่สมัยผม, กับการสอบเอนทรานซ์ จนมาถึงยุคสมัยปัจจุบันที่เขาเรียกว่า การสอบทีแคส ผมยังเห็นความเชื่อเก่า ๆ วนอยู่ในอ่าง
คือคนเรียนเก่งจะต้องสอบติดแพทย์, วิศวะ, สถาปัตย์, บัญชี, เศรษฐศาสตร์, อักษรศาสตร์, นิเทศศาสตร์, นิติศาสตร์ เป็นต้น
แต่ไม่ยักกะเห็นใครอยากสอบติดคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
หรืออยากสอบติดสาขาที่เรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล
ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะสาขาเหล่านี้แทรกตัวอยู่ตามคณะต่าง ๆ ไม่ได้ผุดพรายให้เห็นเป็นทางเลือก
จนทำให้นักเรียนมองเห็นแล้วว่าถ้าเรียนเรื่องราวเหล่านี้ จบออกมาจะไม่ตกงานแน่ ๆ ทั้งยังมีตลาดรองรับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ที่สำคัญ ทุนการศึกษาของภาคเอกชน ภาครัฐ และสถานทูตล้วนต่างอ้าแขนเปิดรับให้น้อง ๆ นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศสมัครแข่งขันกัน บางทุนเป็นการให้เปล่า ไม่ผูกมัด บางทุนไปเรียน และไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศแบบฟรี ๆ แถมมีพ็อกเกตมันนี่ติดกระเป๋าทุกเดือนด้วย
ไม่ได้มีน้อย ๆ นะครับ
มีอยู่เยอะจริง ๆ
เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครรู้เท่านั้นเอง ผมถึงค่อนข้างเชื่อว่าพ่อแม่สมัยใหม่ หรือสมัยปัจจุบันที่ใช้โซเชียลเป็นเครื่องมือ ควรหาความรู้เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย
เพราะนอกจากจะเป็น “ครูแนะแนว” คนแรกให้กับลูกหลานโดยตรง ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเห็น เพื่อจะได้มองเส้นทางเดินของตัวเองในอนาคต
อย่างที่ผมเคยบอก, เคยเขียน และเคยเล่าให้เพื่อนฝูงฟังเสมอว่า
…ยุคสมัยนี้ปริญญาไม่สำคัญหรอก อยู่ที่เราอยากรู้อะไรจริงจังแค่ไหน ?
ถ้าอยากรู้เรื่องนั้น ควรโฟกัสเรื่องนี้อย่างจริงจัง จากนั้นหมั่นศึกษาหาความรู้ บ่มเพาะตัวเอง ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ และพุ่งเป้าไปในเส้นทางเหล่านั้นเลย ยิ่งเดี๋ยวนี้โลกการศึกษาเปิดกว้างมาก ไม่จำกัดเฉพาะมหา’ลัยของรัฐเท่านั้น หากมหา’ลัยเอกชนบางแห่งก็มี “วิชา” ให้เลือกเรียนมากมาย
หรือถ้าอยากจะลงคอร์สเรียนออนไลน์กับมหา’ลัยต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และสอนในเรื่องที่เราสนใจจริง ๆ ก็มีให้เลือกอยู่หลากประเทศบนโลกใบนี้
ทั้งนั้นคงขึ้นอยู่กับเราแล้วว่า…จะนำพาตัวเองไปทางไหน ?
ชีวิตเป็นของเรา…ใช้ซะ
ผมเชื่อแบบนั้นนะ…ก็เลยมาเล่าสู่กันฟัง ?