ลักเซอรี่หนีห่าว-นมัสเต โอกาสตลาดท่องเที่ยวในอนาคต

ภาพจาก : www.bangkokbanksme.com

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย วิรงรอง วิโรจน์รัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโส Economic Intelligence Center

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น มาจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2017 มีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของ GDP และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 12% ต่อปี (ช่วงปี 2015-2017) แนวโน้มการท่องเที่ยวที่เติบโตดีอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของชนชั้นกลางทั่วโลก ที่มีระดับรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าหันมาใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวมากขึ้น

โดยกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า เพื่อให้รางวัลกับตนเอง โดยกลุ่มเป้าหมายที่น่าจับตามอง คือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่มีความชื่นชอบรูปแบบการท่องเที่ยวเฉพาะบุคคลแบบ exclusive มากขึ้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่ายอดการใช้จ่ายต่อทริปก็จะสูงขึ้นมากเช่นกัน

Luxury tourism คือโอกาสทางธุรกิจท่องเที่ยวที่น่าจับตามอง เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวแบบหรูหรา (luxury tourism) มีการเติบโตขึ้นมาก จากข้อมูลของ Allied Market Research คาดการณ์การเติบโตมูลค่าการท่องเที่ยวแบบหรูหราทั่วโลกไว้ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 หรือเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 6.4% (ช่วงปี 2016-2022) โดยการท่องเที่ยวแบบหรูหรานั้นเติบโตจากการให้คุณค่าและประสบการณ์สุดพิเศษแก่นักท่องเที่ยว

โดยนักท่องเที่ยวยังใช้การท่องเที่ยวลักษณะนี้เพื่อแสดงออกถึงอัตลักษณ์ส่วนบุคคล (personal identity) และให้ความสำคัญกับการใช้เวลาเพื่อการพักผ่อนเพิ่มมากขึ้น

นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย เป็นกลุ่มตลาดท่องเที่ยวแบบหรูหราที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด จากรายงานของ Amadeus พบว่าหากพิจารณากลุ่มประเทศ BRICs อินเดียมีการเติบโตต่อปีของจำนวนทริปแบบหรูหราสูงที่สุดที่ 12.8%

ตามมาด้วยจีนที่ 12.2% (ปี 2015-2025) โดยเมื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั้ง 2 ประเทศของไทย นับว่ายังสดใสอยู่มาก โดยในปี 2017 สัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียของไทยนั้นคิดเป็น 28% (9.8 ล้านคน) และ 4% (1.4 ล้านคน) โดยมีอัตราเติบโต 7.3% และ 9.7% ต่อปี ตามลำดับ (ปี 2015-2017) และมีการใช้จ่ายเติบโตสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเติบโตราว 10.5% และ 10.3% ต่อปี (ปี 2015-2017) จากตัวเลขการเติบโตข้างต้นจะช่วยเป็นส่วนผลักดันสำคัญให้กลุ่มตลาดท่องเที่ยวแบบหรูหราจากจีนและอินเดียในไทยมีโอกาสมากขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Allied Market Research พบว่าจีนมีทริปการเดินทางนอกประเทศแบบหรูหราสูงถึง 7 ล้านทริปต่อปี โดยคาดการณ์ว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของจำนวนทริปสูงถึง 10.8% (2016-2022) รองลงมา ได้แก่สิงคโปร์ และอินเดีย เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตลาดในกลุ่มนี้เติบโตสูง เนื่องจากกลุ่มชนชั้นกลางของจีนมีระดับรายได้ที่สูงขึ้น ที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของนักท่องเที่ยวแบบหรูหราของอินเดียนั้น มีปัจจัยผลักดันที่น่าสนใจคือ การขยายตัวของประชากรกลุ่ม ultra-high-net-worth individual (UHNWI) ซึ่งคือคนที่มีทรัพย์สินส่วนตัวมากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีรายได้มากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทั้งนี้จากข้อมูลของ Knight Frank พบว่า อินเดียมีอัตราการเติบโตของ UHNWI สูงถึง 12% ต่อปีในช่วงปี 2015-2016 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 150% ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งนับเป็นกำลังซื้อที่มหาศาลในอนาคต

พฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบเหนือระดับ ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและเริ่มปรับมาสู่การท่องเที่ยวที่ออกแบบได้ จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวแบบหรูหราของจีน โดย Hurun Report Inc ร่วมกับ ILTM Asia พบว่าในปี 2016 นักท่องเที่ยวแบบหรูหราของจีนชื่นชอบการใช้บริการออกแบบรูปแบบการท่องเที่ยวเฉพาะบุคคล และให้ความสำคัญกับการเลือกที่พักที่มีมาตรฐานการให้บริการที่เป็นเลิศ

โดยนักท่องเที่ยวกว่า 60% เต็มใจที่จ่ายค่าที่พักราว 1.5 หมื่นบาทต่อคืน และ 32% ยอมจ่ายสูงถึง 2.5 หมื่นบาทต่อคืน และเลือกใช้บริการสายการบินในชั้นธุรกิจสูงถึง 48% สำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวใน 3 ปีข้างหน้า นักท่องเที่ยวจีนให้ความสนใจการท่องเที่ยวแบบผจญภัย นอกจากนี้ การเลือกจุดหมายการท่องเที่ยวยังขึ้นอยู่กับฤดูกาลในจีนเอง โดยในฤดูร้อนและใบไม้ร่วงจะนิยมเที่ยวทะเล ซึ่งภูเก็ตเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนสูงถึง 27%

รองลงมา ได้แก่ หมู่เกาะมัลดีฟส์ที่ 18% ขณะที่ฤดูหนาวและใบไม้ผลินั้น นักท่องเที่ยวที่ต้องการหลีกหนีอากาศหนาว ไทยยังคงได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วน 18% รองลงมา ได้แก่ ออสเตรเลียที่ 16% นอกจากนี้ยังมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉลี่ยของยอดช็อปปิ้งระหว่างการท่องเที่ยวราว 1.1 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 57% จากงบประมาณเพื่อการท่องเที่ยวทั้งหมด

โดยสินค้าที่เป็นที่นิยม ได้แก่ เครื่องสำอาง สินค้าประจำท้องถิ่น กระเป๋า เสื้อผ้า และเครื่องประดับ เป็นต้น ในส่วนของนักท่องเที่ยวแบบหรูหราของอินเดียนั้น จากรายงานของ MakeMyTrip พบว่ามีการใช้จ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบหรูหราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวหญิงที่เดินทางคนเดียว ซึ่งใช้เวลากับการท่องเที่ยวต่อทริป เพิ่มขึ้น 10% อยู่ที่ราว 12-14 คืน และเป็นการท่องเที่ยวในหลายจุดหมายปลายทางในทริปเดียว ในขณะที่กลุ่ม UHNWI จะเน้นที่การออกแบบแพ็กเกจการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ และต้องมีความเป็นเอกลักษณ์ที่เหนือระดับ โดยนิยมใช้เครื่องบินเช่าส่วนตัวในการเดินทาง

ตลาดท่องเที่ยวแบบหรูหราที่เติบโตสูง จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับธุรกิจหลายกลุ่ม เนื่องจากความต้องการเฉพาะตัวที่สูง ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเน้นออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยวที่สุดพิเศษพร้อมนำเสนอสินค้าที่โดนใจ เพื่อสร้างมูลค่าที่เหนือกว่า

จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวแบบหรูหราของจีนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบเน้นประสบการณ์ควบคู่กับการช็อปปิ้ง และให้ความสำคัญกับการเลือกที่พักที่ต้องมีระดับการให้บริการที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทออกแบบแพ็กเกจท่องเที่ยวเฉพาะบุคคล ที่เน้นรูปแบบการท่องเที่ยวผจญภัยแบบ exclusive

นอกจากนี้ จากกำลังซื้อที่มหาศาลจากทั้ง 2 ประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อไม่จำกัด การสร้าง multi-brand store ที่คัดสรรเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นที่นิยม ควบคู่กับการเสนอสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของไทย ที่มีคุณค่าและหายาก เพื่อยกระดับตลาดสินค้าให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นก็เป็นอีกช่องทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการช็อปปิ้ง

สำหรับธุรกิจโรงแรมนั้น พบว่าโรงแรมในระดับ 5 ดาวขึ้นไป ยังมีโอกาสที่สดใสสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการรักษาคุณภาพด้านการบริการให้ได้มาตรฐานเพื่อรักษาฐานลูกค้าและสร้างโอกาสในการกลับมาใช้บริการซ้ำในอนาคต

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”