สมชัย เลิศสุทธิวงค์ “มืออาชีพ” ไม่มีทางลัด

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย เชอรี่ ประชาชาติ [email protected]

เราคงได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ ว่ากว่าคนเราหรือบริษัทจะประสบความสำเร็จได้ต้องฟันฝ่า และพิสูจน์ฝีมือขนาดไหน โดยเฉพาะในสมรภูมิธุรกิจที่ต้องขับเคี่ยวแข่งขันรุนแรงอย่างธุรกิจโทรศัพท์มือถือ

แต่กว่าจะคว้าชัยชนะมาได้ว่ายากแล้ว การรักษาสถานะ “ผู้นำ” ให้ยืนยาวยิ่งยากกว่า

เปรียบบริษัทกับคน เปรียบคนกับบริษัท กรณีของซีอีโอ “เอไอเอส-สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ก็เช่นกัน

“สมชัย” ใช้เวลา 24 ปี ทำงานในกลุ่มชิน และ “เอไอเอส” กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

เขาไต่เต้าขึ้นมาจากเซลส์แมนขายระบบคอมพิวเตอร์ที่ได้รับโอกาสเรียนรู้งานหลากหลายหน้าที่ (มาก) ทั้งฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์, งานการตลาด, การพัฒนาบริการเสริม ตำแหน่งล่าสุดก่อนขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร คือ chief marketing officer (CMO)

จากพนักงานตอกบัตรธรรมดา มาเป็น “ซีอีโอ” บริษัทได้ ย่อมไม่ธรรมดา ยิ่งบริษัทใหญ่ระดับแสนล้านที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติด้วยแล้ว

“ซีอีโอเอไอเอส ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารจากข้างนอกที่มาเติบโตที่เอไอเอส เราเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาแค่ 28 ปี รับสัมปทานจากทีโอที 25 ปี ต่อมาเป็นไลเซนส์ ซีอีโอคนแรกคือพี่บุญคลี (ปลั่งศิริ) ซึ่งย้ายมาจากการสื่อสารฯ คนที่ 2 คุณสมประสงค์ (บุญยะชัย) มาจากไอบีเอ็ม คนที่สามพี่วิกรม (กรมดิษฐ์) คนที่สี่พี่วิเชียร (เมฆตระการ) ผมเป็นคนที่ 5 ทุกคนเป็นลูกหม้อหมด”

ต่างกันตรงที่ “สมชัย” เป็นลูกหม้อที่ไต่เต้าขึ้นมาจาก “พนักงานตอกบัตร”

“ผมทำมาตั้งแต่ตอกบัตร ขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับกลาง และระดับสูง ในระหว่างทางได้เรียนรู้มากมาย คนรุ่นใหม่อาจมองว่ารอไม่ไหวกว่าจะเติบโต อย่างผมเองก็ 20 กว่าปี เดี๋ยวนี้คนอาจชอบทำงานเร็ว ๆ ย้ายงานบ่อย ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกแบบไหน”

สำหรับ “สมชัย” เส้นทางของมืออาชีพไม่มีทางลัด

“ผมไม่เคยใฝ่ฝันว่าจะเป็นซีอีโอ แต่เป็นคนที่เมื่อได้รับมอบหมายงานอะไรก็จะทำตรงนั้นให้ดีที่สุด ตั้งแต่เป็นฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์, พัฒนาบริการเสริม และอื่น ๆ คิดแต่ว่าจะทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ตอนทำบริการเสริม ก็ตั้งเป้าว่าทำรายได้ให้ถึงหมื่นล้านบาทเมื่อไรก็จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ก็ทำได้ พอมาทำการขายและการตลาด ขยับเป้าจากหมื่นล้านบาทมาเป็น 1.2 แสนล้านบาทก็ทำได้”

นอกเหนือจากความสามารถยังแสดงให้เห็นด้วยว่า “เอไอเอส” เป็นองค์กรที่เปิดโอกาส “คน” แสดงฝีมือ

ถ้ามีความสามารถ ก็มีโอกาสก้าวมาถึงตรงนี้ได้เช่นเขา

แม้ไม่เคยคิดจะเป็น “ซีอีโอ” แต่พอถึงจังหวะในยุคที่ซีอีโอคนเดิม (คุณวิเชียร เมฆตระการ) จะเกษียณ ต้องมีการคัดสรรซีอีโอใหม่

“เอไอเอสเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีผู้ถือหุ้นมากมาย การหาซีอีโอ จึงต้องมีกระบวนการคัดสรร จ้างบริษัทที่ปรึกษาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา มีคนสมัครหลายสิบคนแต่มาถึงรอบสุดท้ายมี 3 คน และมีต่างชาติด้วย ผมก็ต้องไปแข่งต่างชาติ จนได้รับตำแหน่ง”

เรียกว่า ผ่านบททดสอบมาไม่น้อยกว่าจะขึ้นมาได้

“เด็กรุ่นใหม่อาจเรียนจบแล้วไปทำธุรกิจ อยากอายุน้อยร้อยล้าน ผมเองถ้าออกไปทำธุรกิจเองก็อาจมีเงินเป็นร้อยล้าน ก็จะอยู่แค่ในวงของผม สำหรับผม การวัดความสำเร็จไม่ใช่แค่เรื่องเงิน ถ้าอยู่ในบริษัทใหญ่ ๆ 20 กว่าปีให้อะไรมากกว่าเงิน ผมกล้าพูดว่าผมรู้จักผู้ใหญ่ระดับประเทศมากมาย เป็นเจ้าของธุรกิจธรรมดาคงไม่ได้ เพราะอยู่ในองค์กรใหญ่ คือสิ่งที่องค์กรให้โดยเราไม่รู้ตัว”

“เงิน” จะมาเมื่อเรามีความสามารถ อยากให้มองที่ “โอกาส” มากกว่า และ “เอไอเอส” เป็นองค์กรที่ให้โอกาสคน

“ไม่ผิดที่จะเลือกทางชีวิตที่อยากเติบโตเร็ว ๆ แต่ถามว่าอายุ 30 มีเงินร้อยล้านแล้ว อีก 30-40 ปีจะไปไหนต่อ ชีวิตคนเรามันยาว ต้องอยู่ไปอีกตั้ง 40-50 ปี”

สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็น “ผู้บริหารมืออาชีพ” อะไรคือกุญแจไปสู่ความสำเร็จนั้น

“มี 3 ข้อ 1.ต้องขยัน ทำงานหนัก ทุ่มเท ผมว่าคนเก่ง ๆ ไม่มีใครไม่ขยัน

2.ต้องมีความซื่อสัตย์ เพราะจะทำให้เรามีโอกาสมากมายมหาศาล ผมมั่นใจว่าที่ผมได้เปลี่ยนงานมากมาย เพราะผู้บังคับบัญชาไว้ใจ คนเก่งหาไม่ยาก แต่คนดีดูยากว่าดีหรือไม่ดี

เราต้องมีส่วนผสมของความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์อธิบายไม่ได้ แต่คนจะสัมผัสได้ และเป็นหัวใจสำคัญ

สุดท้ายคือต้องมีความจริงใจการที่เราจะปกครองลูกน้องหรือทำอะไรต่าง ๆ กับเพื่อนร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ ความจริงใจสำคัญ ต้องแฟร์กับทุกคน”