อยู่กับเทคโนโลยีให้มีความสุข

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ดร.อาณัติ อาภาภิรม

ในระยะปีหรือสองปีหลังนี้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ “ถาโถม” เข้าสู่ประเทศไทยอย่างรวดเร็วและรุนแรง

ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ๆ หรือ “สมาร์ทโฟน” ที่แอปพลิเคชั่นด้านการสื่อสารช่วยให้การติดต่อสื่อสารบนสื่อสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกติดปากว่า “โลกโซเชียล” ทำได้อย่างรวดเร็วภายในคลิกเดียว ยิ่งกว่านั้น ระบบการธนาคารยังมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด จนทุกวันนี้หลายคนแทบจะไม่ต้องทำธุรกรรมใด ๆ ที่ธนาคาร เพียงแค่โหลดแอปพลิเคชั่นของธนาคารลงบนมือถือก็สามารถฝาก ถอน โอน จ่ายเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์อยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งความพึงพอใจอย่างมาก ยิ่งมีแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ ออกมาเท่าไร ก็ยิ่งดีและสะดวกมากขึ้นเท่านั้น

แต่สำหรับคน “สูงวัย” หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ หรือที่เรียกกันว่า disruptive technology กลับทำให้เกิดความวิตกกังวลกับการใช้ชีวิตในอนาคต ด้วยความเป็นห่วงต่าง ๆ นานา เช่น เป็นห่วงว่าจะไม่สามารถนำเงินที่มีอยู่ในธนาคารออกมาใช้ได้ หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ บนมือถือ หรือต่อไปจะดูรายการโทรทัศน์อย่างไร หากต้องดูผ่านจอคอมพิวเตอร์ที่ตนเองนั้นใช้ไม่เป็น เป็นต้น

สำหรับผู้ที่กำลังไม่สบายใจหรือกังวลกับโลกยุคใหม่อยู่ในขณะนี้ ผมมีคำแนะนำง่าย ๆ ให้นำไปใช้ หลักสำคัญประการแรกอยู่ที่ “การยอมรับความจริง” ว่า นับวันเทคโนโลยีมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ก้าวหน้าขึ้น และมีการพัฒนาไปตลอดเวลา

จริงอยู่ที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้น บางครั้งก็มาทำให้สิ่งเก่า ๆ หลายอย่างต้องล้มหายตายจากไป เช่น ฟิล์มถ่ายรูป มีกล้องดิจิทัลมาแทนที่ สื่อโทรทัศน์ถูกโปรแกรม YouTube แย่งพื้นที่ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ก็ถูก E-book มาแทน แม้จะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่เทคโนโลยีเชิง “สร้างสรรค์” นั้นมีมากมาย ล้วนทำให้ชีวิตคนเราง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น การทำธุรกรรมทางธนาคารอย่างที่กล่าวข้างต้น

หรือการจ่ายค่าสินค้าผ่านทางแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ทำให้เราไม่จำเป็นต้องพกเงินติดตัวคราวละมาก ๆ ให้เกิดอันตราย หรือไม่ต้องฝ่าการจราจรไปธนาคารให้เสียเวลา เราจึงควรทำใจยอมรับและสร้าง “ความเชื่อ”ว่า เทคโนโลยีนั้นจะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น

เมื่อยอมรับความจริงได้แล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนแต่ไม่เที่ยง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่ควร “ต่อต้าน” หรือ “ปฏิเสธความจริง” แต่ควรจะเข้าไปศึกษาความรู้ ทำความเข้าใจกับสิ่งใหม่ ๆ เหล่านั้น ต้องไม่มองเทคโนโลยีในแง่ “ลบ” เพราะเทคโนโลยีมีประโยชน์มากมาย เช่น แอปพลิเคชั่นสำหรับสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง LINE หรือ Facebook นั้น สามารถเป็นเพื่อนแก้เหงาให้แก่ผู้สูงวัยได้เป็นอย่างดี เป็นการใช้เวลาว่างให้ไม่น่าเบื่อ เปิดโอกาสให้ได้อ่าน ได้เห็น ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ช่วยป้องกันการเป็นอัลไซเมอร์ ทำให้สามารถพึ่งตัวเองได้

ยิ่งกว่านั้น “สื่อสังคมออนไลน์” ยังทำให้คนสูงวัยได้พบปะสังสรรค์ พูดคุยกับเพื่อนฝูงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนนักเรียนเก่า ๆ หรือเพื่อนใหม่ ๆ ที่รู้จักบนโลกโซเชียล โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ดังนั้นจึงไม่ควรปฏิเสธ แต่ควรอยู่กับเทคโนโลยีให้ได้อย่างลงตัว

นอกจากจะใช้ในการสื่อสารแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายในบ้าน เพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น ต่อเชื่อมรายการเพลงบน YouTube

ที่เปิดจากสมาร์ทโฟนเข้ากับลำโพงภายในบ้าน หรือต่อเชื่อมภาพยนตร์จากแอปพลิเคชั่นบนมือถือเข้าสู่หน้าจอโทรทัศน์ที่บ้าน ดูจอขนาดใหญ่ได้อย่างสบายตา

ผมมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี การเริ่มใช้โปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ หรือแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลนั้น ให้เริ่มค่อย ๆ หัดไปทีละโปรแกรม หรือทีละแอปพลิเคชั่น จนคล่อง ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันพัฒนาให้การใช้งานสะดวกง่ายดายมากขึ้น เช่น Google หรือ YouTube เมื่อใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชั่นง่าย ๆ ได้สักอย่าง ก็จะเป็นทางให้ต่อยอดไปใช้โปรแกรมตัวอื่น ๆ ต่อไปได้อย่างไม่ยากเย็น

ที่สำคัญ ต้องทำใจยอมรับสิ่งใหม่ ไม่ต้องรีบร้อน และเลือกใช้เพียงไม่กี่โปรแกรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเรา ก็เพียงพอแล้ว

ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจจะก่อกวนชวนให้ยุ่งเหยิง จึงได้รับการขนานนามว่า disruptive technology แต่หากใช้อย่างมี “สติ” ใช้อย่างพอเหมาะพอควร ไม่หมกมุ่นอยู่กับมันจนมากเกินไป จนกลายเป็นการ “เสพติด” ส่งผลเสียต่อร่างกาย


เทคโนโลยีเหล่านั้นจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่ท่านอย่างแน่นอน