เศรษฐกิจไทย ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน

เศรษฐกิจไทย
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ดร.ฉมาดนัย มากนวล
Krungthai COMPASS

ปี 2566 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะนำพาเศรษฐกิจไทยไปอยู่ในจุดที่ไม่คุ้นเคย ภายใต้โลกใหม่ที่มีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนผ่านสำคัญที่เกิดขึ้นทั้งในบริบทโลกและของไทยเรา โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจโลกจากฟื้นตัวไปสู่ภาวะชะลอตัว และการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจไทยสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง

ในประเด็นเศรษฐกิจโลกนั้น สหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวแต่อาจไม่เกิดภาวะถดถอย ขณะที่ยุโรปเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยจากปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ส่วนการเติบโตของจีนอาจได้รับแรงกดดันจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และความไม่แน่นอนหลังทางการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยสูงเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อในหลายประเทศ

เศรษฐกิจโลกจึงมีแนวโน้มอ่อนแอลงอย่างชัดเจนและกระทบต่อการส่งออกของไทยรวมถึงประเทศสำคัญด้านห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งมูลค่าการส่งออกต่างหดตัวลง

ทั้งนี้ ข้อมูลการส่งออกของไทยล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ชี้ว่า มูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

จากแนวโน้มดังกล่าว Krungthai COMPASS คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2566 จะชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง อาจขยายตัวเพียง 0.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปี ก่อนการแพร่ระบาด ซึ่งขยายตัวประมาณปีละ 4.0%

มองไปข้างหน้า การส่งออกยังต้องเผชิญแรงกดดันจากการเปลี่ยนผ่านเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดโลกจากการใช้จ่ายซื้อสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ประกอบกับการปรับเปลี่ยนในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศซึ่งผู้ประกอบการพยายามลดความเสี่ยงจากภาวะชะงักงัน โดยแสวงหาซัพพลายเออร์แหล่งใหม่ที่มั่นคง และกระจายการผลิตสินค้าออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงกับผู้บริโภคปลายทางมากขึ้น

ทางด้านเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงจะยังไม่หมดไป Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 3.1% ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะในครึ่งแรกของปี 2566 จึงมองว่า ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปจาก 1.25% ในปี 2565 ขึ้นสู่ระดับ 2.00% ในปี 2566

และเมื่อพิจารณาผลของการปรับขึ้นอัตรานำส่ง FIDF Fee และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ร่วมกันนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงโดยเฉพาะ MLR ต่ำสุด (Minimum) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งต่างปรับเพิ่มแล้ว โดยปรับขึ้น 0.4% สู่ระดับ 6.15% ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2566 และคาดว่าอาจแตะระดับ 6.6% ในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ คาดว่าขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดประมาณ 2.00-2.50% หรือปรับไปทั้งสิ้น 1.50-2.00% ซึ่งคล้ายกับรอบปี 2553 ถึง 2554 ที่ปรับขึ้นราว 2.25% ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าว จะนำมาซึ่งความท้าทายของภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่อ่อนไหวต่อต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น

ทิศทางการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้อาจเป็นได้ทั้งความท้าทายและโอกาส ในแง่หนึ่ง ผู้ประกอบการบางส่วนจะต้องรับภาระจากต้นทุนที่สูงขึ้นรอบด้านทั้งดอกเบี้ยที่กล่าวแล้วรวมถึงค่าไฟและค่าแรงที่เพิ่ม แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผู้ประกอบการอาจใช้โอกาสนี้กระจายความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวด้วยการเพิ่มโอกาสจากลูกค้ากลุ่มใหม่ในตลาดใหม่ซึ่งยังมีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และละตินอเมริกา

หรือใช้โอกาสนี้ในการปรับระบบการผลิตเพื่อลดต้นทุน หาแนวทางในการปรับหรือกระจายธุรกิจ เช่นเดียวกับนักลงทุนที่ควรกระจายพอร์ตไปสู่ธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ BCG ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อีกทั้งยังสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก