อย่าให้ “คนจน” รอเก้อ

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย เมตตา ทับทิม


เฝ้าติดตามมาโดยตลอดทุกรัฐบาลสำหรับนโยบายบ้านผู้มีรายได้น้อยหรือนโยบายบ้านคนจน ยุครัฐบาล คสช.ถือว่ามีความสุกงอมระดับหนึ่ง

ย้อนเวลากลับไปปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ทีมเศรษฐกิจมีการผลัดใบเป็น “อาจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เป็นทีมเศรษฐกิจที่นักธุรกิจให้การยอมรับว่าเป็นผู้นำทางจุดประกายแสงสว่างในที่มืดในหลาย ๆ นโยบาย ส่วนจะถูกต้องหรือถูกใจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ขออนุญาตแตะเบา ๆ ด้วยความเคารพ ทีม อ.สมคิด รู้เกี่ยวกับวงการอสังหาริมทรัพย์ถือว่าไม่มากเท่าไหร่ ซึ่งแน่นอนว่ามีผลต่อนโยบายสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อยโดยตรง

จำได้ว่าแมตช์แรกที่กระทรวงคลังเชิญเอกชนในวงการธุรกิจพัฒนาที่ดินเข้าหารือเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 มีข้อเสนอมากมาย

ครั้งนั้นหากรัฐ-เอกชนสามารถพบกันครึ่งทางได้ ป่านนี้คงมีโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อยออกมาให้เห็นจำนวนหนึ่ง
กรอบนโยบายรัฐคืออยากให้เอกชนเข้ามาลงทุนเยอะ ๆ ขายตลาดล่างนี่แหละ นิยามให้แคบเข้าก็คือเป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 6 แสนเพื่อให้มีภาระผ่อนเดือนละไม่เกิน 4,000 บาท (ทราบหรือไม่ ปัจจุบันที่อยู่อาศัยของการเคหะฯราคาเริ่ม 7 แสน-3 ล้านบาทแล้วค่ะ)

คุณภาพชีวิตต้องดีเทียบเท่าโครงการเอกชน ซึ่งหมายถึงผู้มีรายได้น้อยต้องยอมควักจ่ายค่าส่วนกลางตารางเมตรละ 35 บาท ห้องชุดไซซ์ 24 ตารางเมตรต้องมีเดือนละ 840 บาท เจ้าของห้องรับได้หรือไม่

กฎเหล็กถ้าเอกชนจะเข้าร่วม คือทำภายใต้ข้อจำกัดที่มี รัฐไม่สนับสนุนด้านการผ่อนคลายข้อกำหนดทางกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น

ตามไปคุยกับภาคเอกชน เขาบอกว่าไม่ได้ขออะไรเยอะแยะ ขอให้สามารถลงทุนพัฒนาโครงการโดยได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับการเคหะแห่งชาติได้รับอยู่

แปลว่าไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายจัดสรรซึ่งมีข้อบังคับเรื่องพื้นที่ส่วนกลาง เรื่องความกว้างถนน เรื่องขนาดที่ดิน ขนาดอาคาร ฯลฯ ไม่ต้องเข้ากฎหมายผังเมือง ทำให้มีที่ดินทำบ้านผู้มีรายได้น้อยใกล้เมืองหรือในเมืองได้มากขึ้น

ทุกอย่างรัฐเซย์โน บ้านผู้มีรายได้น้อยจึงเห็นภาพบริษัทเอกชนรักษาระยะห่างออกไปเรื่อย ๆ ตัวนโยบายยังคงอยู่ ภาพใหญ่รัฐสำรวจพบคนจนไม่มีบ้าน 4.5 ล้านครัวเรือน ตัดออกมาครึ่งหนึ่งทำแผนแม่บท 10 ปีสร้างก่อน 2.7 ล้านหน่วย เฉลี่ยปีละ 2.7 แสนหน่วย

จากการเฝ้าเชียร์นโยบายนี้มาตลอด ขอสารภาพว่าเสียวมากเลยกับการที่รัฐบาลจะให้การเคหะฯทำเองทั้งหมด เพราะบ้านทุกยูนิตของการเคหะมีเงินภาษีอุดหนุนหลังละ 1.2-1.6 แสนบาท

เทียบกับผ่อนคลายเกณฑ์จัดสรร+ผังเมือง แลกกับการให้เอกชนสร้างบ้านตามราคาที่กำหนด โดยรัฐไม่ต้องอุดหนุนเหมือนการเคหะฯ ทำไมถึงไม่พิจารณาแนวทางนี้กันน้อ

ล่าสุดเสมือนมีข่าวดี “ดร.ออด-ธัชพล กาญจนกูล”ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติคนปัจจุบัน อดีตเป็นรองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มองทะลุเรื่องโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ มองทะลุแผนธุรกิจสไตล์เอกชน

“ดร.ธัชพล” นำเสนอโมเดลใหม่ “เคหะประชารัฐ-ภูมิภาค” ถ้าบริษัทอสังหาฯไม่สนใจ ก็จะมองหาเศรษฐีท้องถิ่น มีที่ดินอยู่ในมือ อยากลงทุนมีผลตอบแทนเหนือดอกเบี้ยเงินฝาก

โดยชวนให้มา “ร่วมดำเนินการ” สร้างบ้านเคหะประชารัฐขายไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องอสังหาฯมาก่อน เพราะการเคหะฯเป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่ต้นจนจบ ขอเพียง “มีที่ดิน” เป็นทุนประเดิมก็พอ

เป้าหมายอยากได้จังหวัดละ 10 ราย แต่ละรายสร้างบ้าน ผู้มีรายได้น้อยขาย 100 หน่วย เท่ากับจังหวัดละ 1,000 หน่วย  หากทำได้จริง นับเฉพาะ 70 จังหวัดจะมีบ้านเคหะประชารัฐฟูขึ้นมาทันที 70,000 หน่วย

คีย์ซักเซสแฟกเตอร์น่าจะอยู่ที่ 1.การเคหะฯมีบทบาทแค่พี่เลี้ยง 2.เอกชนไร้ข้อกังวลเรื่องกุ๊กกิ๊กจุกจิกกวนใจ จุดโฟกัสที่ชอบมากที่สุดคือ ไม่มีเรื่องเสียว เพราะรัฐไม่ต้องควักเงินอุดหนุน 1.2-1.6 แสน/ยูนิต

บ้านเคหะประชารัฐจึงเป็นนโยบายแห่งความหวังของผู้มีรายได้น้อย ขออย่าให้ต้องรอเก้ออีกเลยค่ะ