“ค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็นสวัสดิการสังคม ค้ำจุนความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

ภาพจาก : http://www.lyxd15.com

คอลัมน์ ระดมสมอง
โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

 

“ค่าจ้าง” (wage) คือค่าตอบแทนการใช้แรงงานในการผลิตสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (value-added) ซึ่งคำว่า “แรงงาน” หมายรวมถึงสติปัญญา ความรู้ ความสามารถและความชำนาญงานด้วย ผู้ใช้แรงงานก็คือผู้เป็นเจ้าของแรงงาน ที่มีส่วนร่วมในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนจากการแบ่งสันมูลค่าเพิ่มในระหว่างบรรดาผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต อาทิ เจ้าของที่ดิน เจ้าของเงินทุน เจ้าของเทคโนโลยีและผู้ประกอบการที่มีส่วนร่วมในการผลิต ที่มากน้อยแล้วแต่เทคโนโลยีที่ใช้ความเป็นธรรมในการแบ่งสันมูลค่าเพิ่ม (the sharing of value-added) คือเสาหลักของความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ (economic justice)

ในขณะเดียวกันจำนวนเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ใช้แรงงานทุกระดับ ซึ่งอาจกำหนดเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ก็ต้องอาศัยหลักความเป็นธรรมข้างต้นเช่นเดียวกันภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรี (market economy) อรรถประโยชน์ (utility) ของแรงงานและสภาวะของอุปสงค์-อุปทาน เป็นตัวการกำหนดค่าจ้าง แต่การวิเคราะห์และการตัดสินใจ จะเป็นไปตามทรรศนะของนายจ้างฝ่ายเดียว ซึ่งหากลูกจ้างรับได้ ก็มีงานทำ แต่หาก
รับไม่ได้ ก็ว่างงาน นายจ้าง ได้แก่ ผู้ประกอบการ เจ้าของที่ดิน เจ้าของเงินทุน และเจ้าของเทคโนโลยี หากปราศจากสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการเจรจาต่อรอง ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายลูกจ้างก็จะเสียเปรียบ และเช่นนั้น ความเป็นธรรมในการแบ่งสันมูลค่าเพิ่ม ก็อาจมิได้ยึดมั่นในความเป็นจริงเสมอไป

รัฐบาลไม่อาจจะแทรกแซงกลไกของตลาดในภาวะปกติได้ เพราะการนั้นแทนที่จะแก้ปัญหา กลับจะเป็นการสร้างปัญหา การทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นคนละเรื่องกับความเป็นธรรม

ในปัจจุบันยอมรับกันเป็นสากล ว่ารัฐมีหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องของสวัสดิการสังคม (social welfare) และถือกันว่าสวัสดิการสังคมที่สร้างความมั่นคง เป็นกลไกที่ชอบธรรมภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรี ประเทศไทยก็มีสวัสดิการสังคมที่มีขอบเขตกว้างขวาง ครอบคลุมทุกด้านของสังคม เพื่อเสริมความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นสวัสดิการสังคมที่สำคัญและจำเป็นที่จะช่วยเสริม

อำนาจการต่อรอง ที่ผู้ใช้แรงงานในฐานะลูกจ้างเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ในการแบ่งสันมูลค่าเพิ่มที่เป็นธรรม ค่าจ้างขั้นต่ำมีความมุ่งหมายให้สมาชิกของสังคมที่มีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าและบริการ ได้รับค่าตอบแทนที่ประกันคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม (decent living) โดยมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหรือการเมืองใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน ระดับราคาสินค้าทั่วไป ต้นทุนการผลิต การลงทุน หรือโครงสร้างอุตสาหกรรมค่าจ้างขั้นต่ำเป็น “สิ่งที่กำหนดให้”

ประการหนึ่งในสังคม ทำนองเดียวกับ “สิ่งที่กำหนดให้” อื่น ๆ อาทิ สถาบัน อุดมการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ
ซึ่งจะปรากฏให้เห็นในทุกสังคม เศรษฐกิจและการเมืองจะต้องปรับตนเองให้สอดคล้องกับ “สิ่งที่กำหนดให้” ในสังคม หากทำความเข้าใจให้ถูกต้องอย่างนี้แล้ว

สังคมไทยก็จะสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่มีอยู่มากมายแล้ว ไปได้อีกเรื่องหนึ่ง