CxO กังวลสภาพภูมิอากาศ

คอลัมน์ : SD Talk

ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) และการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ ฯลฯ

แม้จะเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ แต่ผู้บริหารระดับ CxO ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับต้น ๆ ในองค์กรของตน ถึงแม้ว่า CxO ส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสำรวจมีวิสัยทัศน์เป็นไปในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจทั่วโลกสามารถเติบโตเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน ก็สามารถบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่การดำเนินการและผลจากการดำเนินการไม่เชื่อมโยงกัน เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ ยังคงล่าช้าในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะปลูกฝังแนวคิดความยั่งยืนในการวางกลยุทธ์ การดำเนินงาน และวัฒนธรรมขององค์กร

ดังนั้น เมื่อให้จัดอันดับประเด็นเร่งด่วนที่สุดสำหรับองค์กรของพวกเขา CxO หลายคนจึงจัดอันดับให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในกลุ่ม “สามอันดับแรก”

หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังถูกจัดว่ามีความสำคัญในอันดับต้น ๆ เมื่อพิจารณาร่วมกับประเด็นอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ นวัตกรรม, การแข่งขันเพื่อหาบุคลากรที่มีความสามารถ และความท้าทายในห่วงโซ่อุปทาน ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงมีเพียงประเด็นด้านแนวโน้มเศรษฐกิจเท่านั้นที่ได้รับการจัดอันดับสูงกว่าประเด็นที่กล่าวมาเล็กน้อย

สอง ผู้บริหารระดับ CxO ประมาณ 61% กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ และการดำเนินงานขององค์กร ในอีก 3 ปีข้างหน้าในระดับสูง หรือสูงมาก

สาม 75% กล่าวว่าองค์กรของพวกเขาเพิ่มการลงทุนด้านความยั่งยืนในปีที่ผ่านมา โดยเกือบ 20% ของกลุ่มนี้ให้ข้อมูลว่าพวกเขาได้เพิ่มการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ CxO มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังมีความเห็นในทางที่ดีในเรื่องการดำเนินการจัดการด้านสภาพอากาศ โดย 62% กล่าวว่า พวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดเวลา หรือเกือบตลอดเวลา

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมดระบุว่า บริษัทของตนได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเมื่อปี 2565 82% ของ CxO ได้รับผลกระทบโดยตรงกับตนเอง

อย่างไรก็ตาม 78% มองในแง่ดีอยู่บ้าง หรือมองในแง่ดีอย่างมาก ว่าจะมีการดำเนินการเพียงพอที่จะทำให้โลกสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทต่าง ๆ จึงรู้สึกกดดันที่จะต้องดำเนินการกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่คณะกรรมการ/ฝ่ายบริหาร, ลูกค้า ไปจนถึงกลุ่มพนักงาน โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของ CxO กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของพนักงานในการผลักดันประเด็นสภาพอากาศ ทำให้องค์กรของตนเพิ่มการดำเนินการด้านความยั่งยืนในปี 2565 โดย 24% ของกลุ่มนี้กล่าวว่ากิจกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่การเพิ่มการดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่กฎระเบียบมีส่วนผลักดัน เพราะ 65% ของ CxO กล่าวว่า กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงทำให้องค์กรของตนเพิ่มการดำเนินการด้านสภาพอากาศในช่วงปีที่ผ่านมา

ส่วนบริษัทต่าง ๆ มีการดำเนินการในด้านนี้ แต่ยังไม่ใช่การดำเนินการที่แสดงถึงการปลูกฝังการคำนึงถึงด้านสภาพอากาศไว้ในวัฒนธรรมองค์กร และการมีผู้นำอาวุโสที่มองเห็นความสำคัญ และผลักดันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย

ตัวอย่างเช่น 21% ของ CxO ระบุว่าองค์กรของตนไม่มีแผนในการกำหนดค่าตอบแทนจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ผู้นำระดับสูง และ 30% กล่าวว่าพวกเขาไม่มีแผนที่จะชักชวนให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการด้านสภาพอากาศ นอกจากนี้ เมื่อถามเกี่ยวกับความจริงจังในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเพียง 29% ของ CxO ที่กล่าวว่าพวกเขาเชื่อว่าภาคเอกชนจริงจังมาก

และมีเพียง 46% เท่านั้นที่กล่าวว่าการสร้างความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งในองค์กรของตน

นอกจากนั้น รายงานของดีลอยท์สำรวจเพิ่มเติมในเรื่องความต้องการและเป้าหมาย, การลงมือปฏิบัติ และผลกระทบที่ไม่สอดคล้องกัน ตลอดจนขั้นตอนที่ CxO สามารถดำเนินการให้แต่ละส่วนสอดคล้องกัน เพื่อเร่งให้เกิดดำเนินการไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียวในที่สุด


หมายเหตุ – เรียบเรียงจากงาน World Economic Forum เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยดีลอยท์เผย “CXO Sustainability Report : Accelerating the Green Transition” ประจำปี 2023 ซึ่งรายงานฉบับนี้เกิดจากการสำรวจกลุ่มผู้บริหารระดับ CxO มากกว่า 2,000 คน ใน 24 ประเทศ รวมถึงประเด็นที่ยังวิตกกังวล และการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพอากาศที่จัดทำโดย CxO และองค์กรของพวกเขาในปีที่ผ่านมา