มากกว่า “เทคโนโลยี”

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

คำกล่าวที่ว่า แค่ยืนอยู่เฉย ๆ ก็เท่ากับเดินถอยหลังแล้ว เป็นความจริงมากขึ้น และมากขึ้น เพราะโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก เร็วกว่าที่ใครหลายคนจะคาดคิด ไม่มีใครคิดว่าภายในเวลาไม่กี่ปี “โนเกีย” และ “แบล็คเบอรี่” รายหนึ่งเป็นเจ้าตลาดโทรศัพท์มือถือมาอย่างยาวนาน อีกรายเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนดาวรุ่งจะแทบไม่เหลือเค้าของความยิ่งใหญ่ในอดีตเลย

ในยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก กว่าที่จะก่อร่างสร้างธุรกิจจนกลายเป็น “ตำนาน” มาได้ อาจต้องใช้เวลายาวนานหลายสิบปี แต่ในยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า” หลายบริษัทใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการสร้างอาณาจักรธุรกิจจนยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ เช่นเดียวกันกับที่หลายบริษัทที่เคยใหญ่กลับล้มหายไปในชั่วพริบตา

นั่นเป็นสาเหตุให้หลายธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายลุกขึ้นมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองตั้งแต่วันที่ตนเองยังแข็งแรง เพราะตระหนักถึงอานุภาพทำลายล้างของเทคโนโลยี “ดิจิทัล” พอ ๆ กับที่มองเห็นถึงประโยชน์มากมายอีกด้านของเทคโนโลยี

บางองค์กรค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน ขณะที่บางองค์กรเลือกที่จะ “กลับหัวตีลังกา” ในความหมายที่ว่าจะไม่ทำอะไรเหมือนที่เคยทำ

บริษัทมือถือมือวางอันดับหนึ่งของไทย “เอไอเอส” เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในแง่ที่ว่า ประกาศเปลี่ยนแปลงตนเองในวันที่ยังคงสถานะมือวางอันดับหนึ่งในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แม้จะรู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคุ้นเคยและมีความเชื่อมั่นในกระบวนการที่เคยทำมาในอดีตแล้วประสบความสำเร็จ

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอ “เอไอเอส” บอกกับเพื่อนร่วมงานของเขาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน ในวันแรกที่ขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำองค์กรว่า เอไอเอสจะต้องก้าวไปสู่การเป็น “ดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิส โพรไวเดอร์” หรือเป็นมากกว่า “ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ”

เขาเชื่อว่า “ความสำเร็จในอดีต ไม่ได้การันตีอนาคต” ตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมาจึงลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงหลายส่วน ทั้งภายในองค์กร และภาพภายนอกที่คนทั่วไปสัมผัสได้ เช่น มีสินค้า และบริการใหม่ ๆ เช่น บริการฟิกซ์บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต

ส่วนเรื่องภายใน สิ่งที่สำคัญที่สุด หนีไม่พ้นเรื่อง “คน”

“สมชัย” ย้ำเสมอว่า ที่เอไอเอสเติบโตอย่างแข็งแกร่งขึ้นมาได้จนมาถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเทคโนโลยี แต่เป็นเพราะ “คน” ในองค์กร

เมื่อโลกเปลี่ยน ทำอย่างไรถึงจะทำให้ “คน” ในองค์กรปรับตัวตามโลกทัน

“ซีอีโอ เอไอเอส” ย้ำว่า ไม่มีนโยบายลดคน แต่ “คน” ที่มีต้องปรับตัวให้ทันความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้ได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ปัจจุบันเอไอเอสไม่ได้มีแค่มือถือ แต่มีบริการอื่น เช่น “เอไอเอสไฟเบอร์” รวมถึงคอนเทนต์ที่ร่วมกับพาร์ตเนอร์ระดับโลก เช่น เน็ตฟลิกซ์, เอชบีโอโก, ซีเอ็นเอ็น จึงไม่เพียงต้องเพิ่มทีมงานที่มีความสามารถใหม่เข้ามาเสริมเท่านั้น แต่ต้องพัฒนา “คน” ที่มีอยู่เดิมให้มีทักษะที่ตอบโจทย์การทำงานแบบใหม่ด้วย

“การเปลี่ยนผ่านองค์กร จากเจนหนึ่งไปอีกเจนหนึ่ง เป็นสิ่งท้าทาย เพราะพนักงานที่มีกว่า 12,000 คน เป็นเจนวาย 70% เจนเอ็กซ์ 28% ที่เหลือเป็นเบบี้บูมเมอร์ 2% ขณะที่การแข่งขันวันนี้ ทำแบบเดิม คิดแบบเดิม เอาไม่อยู่ ซึ่งข้อได้เปรียบของเราคือประสบการณ์ที่มีความแข็งแรง”

“สมชัย” บอกว่า โลกธุรกิจยุคดิจิทัลจะอยู่รอดได้ต้องมี 3 อย่าง 1.ข้อมูล 2.ความคิดสร้างสรรค์ และ 3.ความรวดเร็ว

ภารกิจสำคัญในฐานะผู้นำองค์กรจึงอยู่ที่การพัฒนาความสามารถบุคลากร ปรับปรุงกระบวนการทำงาน, โครงสร้าง, วัฒนธรรมองค์กรให้คล่องตัว และเอื้อต่อการพัฒนาไปสู่ “องค์กรนวัตกรรม” ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้จำกัดที่ “อายุ” แต่คือคนที่มีความคิดที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ

ทั้งหมดก็เพื่อให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน

การเป็นที่หนึ่งว่ายากแล้ว การรักษาความสำเร็จให้ยืนยาวยิ่งยากกว่า