บทบรรณาธิการ : ต้องรู้เท่าทันประชานิยม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศที่จะยุบสภาในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ สอดคล้องกับการคาดหมายที่ว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ของประเทศไทยจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 หลาย ๆ พรรคการเมืองสำคัญของประเทศได้ออกมาเคลื่อนไหว ทั้งการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต และการนำเสนอ “ชุดนโยบาย” สำคัญของพรรค ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อใช้หาเสียงกับผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง

ทว่าชุดนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นนโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็น “การพัก” ได้แก่ การพักหนี้ 3 ปี ปลอดต้น/ปลอดดอกเบี้ย “การลด” ทั้งค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า-ค่าก๊าซหุงต้ม “การเพิ่ม” บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ปริญญาตรี 25,000 บาท/เดือน รถเรือ ข้าราชการเกษียณอายุ 65 ปี

“ฟรี” รักษามะเร็ง ฟอกไต วัคซีนมะเร็งปากมดลูก บัตรประชาชนรักษาฟรีทั่วไทย นมโรงเรียนฟรี 365 วัน ป่วย 16 โรครับยาฟรี ไปจนกระทั่งถึงการประกันรายได้เกษตรกร ข้าว-มันสำปะหลัง-ยางพารา-ข้าวโพด-ปาล์มน้ำมัน การอุดหนุนชาวประมงกลุ่มละ 100,000 บาท ชาวนารับ 30,000 บาท/ครัวเรือน ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ออกกรรมสิทธิ์ที่ทำกิน ราคาพืชผลเกษตรขึ้นยกแพง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทุกหมู่บ้าน บำนาญประชาชน และ “การเลิก” ด้วยการยกหนี้ กยส.

บางนโยบายที่พรรคการเมืองแถลงออกมากลับเต็มไปด้วยความสงสัย อาทิ การลดค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำมัน กลายเป็นสิ่งสวนทางกับราคาพลังงานโลก และมีบทเรียนจากรัฐบาลชุดปัจจุบันที่พยายามใช้นโยบายเดียวกัน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตกอยู่ในภาวะวิกฤต จำเป็นที่จะต้องกู้เงินเข้ามาช่วยเหลือเป็นจำนวนมหาศาล และกลายเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องใช้หนี้ต่อไป

หรือการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ก็เป็นความพยายามที่ไร้ผล จากปัญหาสัญญาสัมปทานการเชื่อมต่อระบบที่มีแต่จะเพิ่มไม่มีลด การประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร ที่ต้องจ่ายส่วนต่างของราคาให้กับเกษตรกรนับเป็นวงเงินแสนล้านบาทแต่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาเพิ่มคุณภาพผลผลิต หรือหันไปปลูกพืชอื่นที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดระยะยาว

นับเป็นสารพัดนโยบายประชานิยมที่ทุกพรรคการเมืองมีแต่จะ “ให้” โดยผลร้ายที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ การ “เสพติด” ประชานิยมของประชาชนที่จ้องจะรอรับ โดยไม่ได้ฉุกคิดไปว่า เมื่อรับไปแล้วพรรคการเมืองจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ และจะมีวิธีหารายได้มาจากไหนในการชดเชยสิ่งที่ตนเองได้สัญญาตามที่หาเสียงกันเอาไว้