“ทองแดง” บทบาทและความท้าทาย ในยุค EV และพลังงานสะอาด

EV
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : อติกานต์ แสงวัณณ์ 
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานสะอาด หรือ energy transition เพื่อมุ่งสู่ net zero จะก่อให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะในพลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (battery electric vehicles-BEVs) โดยหนึ่งในความท้าทายของ energy transition ที่มีการกล่าวถึงกันมากขึ้นคือ ความต้องการใช้ทองแดงที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

จากการคาดการณ์ของ Goldman Sachs อุปสงค์ทองแดงโลกจาก energy transition ในปี 2030 คาดว่าจะสูงถึง 6.6 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 16% ของความต้องการใช้ทองแดงทั้งหมด เมื่อเทียบกับเพียง 4% ในปี 2021

อย่างไรก็ตาม อุปทานทองแดงโลกนั้นกำลังอยู่ในภาวะตึงตัว โดยในปี 2022 ที่ผ่านมานั้น สต๊อกทองแดงบริสุทธิ์แคโทด (cathode) ของโลกอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี และจำนวนการอนุมัติเปิดเหมืองทองแดงใหม่นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่การลงทุนขึ้นเหมืองทองแดงใหม่นั้นต้องเผชิญกับความท้าทายจากเงินลงทุนที่สูงกว่าเดิม

เนื่องจากปัญหาเกรดแร่ทองแดงที่ลดลง และความกังวลของผู้ลงทุนต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง และนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในแหล่งแร่ทองแดงที่สำคัญของโลกอย่างชิลี และเปรู

จากปัจจัยข้างต้น ตลาดทองแดงโลกจึงตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดย Goldman Sachs ประมาณการว่า gap นั้นจะถ่างขึ้นเรื่อย ๆ และจะมากถึง 7.8 ล้านตันในปี 2023 อย่างไรก็ดี ทองแดงเป็นโลหะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้โดยแทบไม่เสียคุณภาพไป ทองแดงรีไซเคิลจากเศษทองแดงเก่า หรือ secondary copper นั้น จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งอุปทานที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

สำหรับไทย อุปสงค์ทองแดงหลัก ๆ มาจาก 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งรัฐบาลไทยนั้นได้มีมาตรการผลักดันอุตสาหกรรมรถ BEVs โดยได้ออกเงื่อนไขให้ค่ายรถที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจะต้องผลิตรถชดเชยต่อการนำเข้ารถ CBU และต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งการผลิตรถ BEVs จะใช้ปริมาณทองแดงเพิ่มขึ้น 3.6 เท่าต่อคัน เมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICEs) ในรูปของสายไฟและฟอยล์สำหรับแบตเตอรี่ ทำให้ความต้องการใช้ทองแดงของประเทศนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมทองแดงของไทยมีเพียงผู้ผลิตกลางน้ำและปลายน้ำเท่านั้น โดยที่ผู้ผลิตขนาดใหญ่ซึ่งมีโรงหลอมเป็นของตัวเองจะนำเข้าทองแดงบริสุทธิ์แคโทดจากต่างประเทศ หรือใช้เศษ ที่เหลือจากการผลิตของโรงงานเองมาหลอม เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทองแดง ซึ่งผู้ผลิตขนาดกลางและผู้ผลิตปลายน้ำจะนำเอาผลิตภัณฑ์ทองแดงเหล่านั้นมาผลิตต่อไป ด้วยพื้นฐานการผลิตที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ผลิตทองแดงไทยจะขึ้นอยู่กับตลาดทองแดงโลก

ส่วนการผลิต secondary copper ในประเทศนั้น เนื่องจากการขึ้นโรงหลอมเพื่อทำการรีไซเคิลจำเป็นต้องมีเงินทุนที่สูง ส่วนใหญ่จะมีเพียงผู้รับซื้อเศษทองแดงเก่าแล้วนำไปขายต่อ ไม่ได้มีผู้ผลิตที่นำเอาเศษทองแดงเก่ามารีไซเคิลเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตใหม่ ส่งผลให้ความสำคัญของเศษทองแดงเก่าในมุมของผู้ค้าขยะนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านราคารับซื้อเศษทองแดงเก่าที่อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อน COVID-19 และเทรนด์ปริมาณการส่งออกเศษทองแดงเก่า โดยเฉพาะไปยังจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ความเสี่ยงที่อุปทานทองแดงจะโตไม่ทันอุปสงค์จาก energy transition นั้น อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ใช้ทองแดงเป็นวัตถุดิบเผชิญความท้าทายในด้านแนวโน้มราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ความผันผวนของราคา และปัญหา supply shortages

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ทองแดงในการผลิตควรเตรียมรับมือและปรับตัวต่อต้นทุนทองแดงที่อาจจะสูงขึ้น และวางแผนการจัดหาทองแดงโดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านอุปทานและราคาที่อาจจะผันผวนมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจและรักษาความสามารถในการแข่งขัน

ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรคำนึงถึงบทบาทของทองแดงต่อ energy transition และความท้าทายจากภาวะอุปทานทองแดงตึงตัวต่อการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด

โดยพิจารณาบทบาทของ secondary copper ว่ามีความคุ้มค่าที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลเศษทองแดงเก่าในไทย และการนำเศษทองแดงเก่ามาใช้เป็นปัจจัยการผลิตภายในประเทศแทนการส่งออกนั้น เป็นเรื่องที่ควรจะศึกษา เพื่อรักษาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการสร้าง closed loop ของการใช้ secondary copper ในประเทศตามนโยบาย Circular Economy อีกด้วย