แก้จนวังวนเดิมไม่ตอบโจทย์

บทบรรณาธิการ

3 ปีเศษที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับไม้ต่อบริหารประเทศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนฟื้นชัด ทั้งยังได้แรงหนุนจากภาคส่งออกและการท่องเที่ยวที่เวลานี้เป็นแหล่งรายได้หลัก แต่การเติบโตยังเป็นแบบรวยกระจุกจนกระจาย คนระดับกลางและล่างไม่ได้รับอานิสงส์

หลากหลายมาตรการทีรัฐ่นำมาใช้ บวกกับวงเงินงบประมาณในการชดเชยช่วยเหลือผ่านสารพัดโครงการ เพื่อสร้างรายได้กระตุ้นกำลังซื้อรากหญ้าและผู้มีรายได้น้อย ทั้งเพื่อให้อยู่รอดได้ในระยะสั้น ขณะเดียวกันก็สร้างความเข้มแข็งในระยะยาว ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี วงเงินรวมไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท แต่ผลที่ได้รับแทบไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะยังต้องแก้ปัญหาเก่าด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินงบฯ ให้เพิ่มต่อเนื่อง

ที่กำลังจะตามมาหลังโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งคิกออฟไปเมื่อ 21 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา คือ มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือมาตรการช่วยเหลือคนจน เฟส 2 งบประมาณดำเนินการ 3.5 หมื่นล้านบาท

โดยจ่ายเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย คนจนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะ ภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยกระดับสวัสดิการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพในการสร้างโอกาสและอาชีพ กับการจ้างงานผู้มีรายได้น้อย

การจัดทำโครงการพัฒนาและปฏิรูปการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านกระบวนการเชิงประชาคมวิสาหกิจชุมชนที่สร้างเครือข่ายและการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับพื้นที่ วงเงิน 3.53 หมื่นล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จกว่า 1 แสนล้านบาท

เป็นการดำเนินการตามคำมั่นที่รัฐบาลประกาศว่า ตลอดปี 2561 จะเป็นปีแห่งการแก้จน เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า กระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นชุมชน มุ่งสร้างรายได้เพิ่ม ขจัดความยากจนให้หมดไป

หากโครงการดังกล่าวสัมฤทธิผล รากหญ้ามีโอกาสลืมตาอ้าปาก เศรษฐกิจฐานรากที่รัฐบาลกระตุ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลับมาฟื้นและเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากกระจายรายได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมอีกทางหนึ่ง


ที่น่าห่วงคือแต่ละมาตรการส่วนใหญ่นำวิธีการเดิม มาใช้ทั้งที่ 3 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ได้ตอบโจทย์แก้จนให้หายขาดเหมือนกับที่คาดหวัง จึงน่าจะเลือกแนวทางใหม่แทนยาขนานเดิม เพราะนอกจากจะรักษาโรคความจนไม่ได้ผลแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงถูกครหาว่าใช้ทางลัดสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง