แก้โจทย์ “ขาดคน” พลิกอนาคตประเทศไทย

แก้โจทย์ ขาดคน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

ปัญหาเรื่องการขาดแคลนคน (เก่ง) ทำให้หลายองค์กรต้องประสบภาวะวิกฤตมานักต่อนักแล้ว

“ผู้บริหาร” องค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ ตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาคน หรือแม้การที่ดึงคนเก่งเข้ามาทำงาน

เรื่องคนจึงนับได้ว่าเป็นโจทย์ใหญ่ (ที่ไม่ใหม่) สำหรับพรรคต่าง ๆ ที่อาสาเข้ามาสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าจะออกนโยบายอย่างไร…นอกเหนือไปจากเรื่องการแข่งขันกัน “ขึ้นค่าแรง”

จากการพูดคุยกับ “คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ว่า โจทย์แรกที่ต้องทำทันทีคือเรื่องคน

หากรัฐบาลต้องการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรม ก็ต้องสร้างคนแบบที่เรียกว่า “tech startup” ขึ้นมา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก เปรียบเสมือนเอสเอ็มอีในอนาคต ซึ่งต้องเริ่มบ่มเพาะด้วยการให้เงินไปลองผิดลองถูก เพื่อปลุกความเป็นผู้ประกอบการ และความเป็นนวัตกรในตัวพวกเขา

สมมุติหากไทยสามารถสร้าง tech startup ได้สัก 2 หมื่นราย แล้วลองคิดดูว่า หากสตาร์ตอัพเหล่านี้มีคนในองค์กรสัก 50 คน เท่ากับว่าเราได้สร้างคนสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา 1 ล้านคน ไทยจะก้าวตามสิงคโปร์ประเทศแห่งสตาร์ตอัพไปติด ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก การสร้างคนอาจจะต้องใช้เวลา ดังนั้น ไทยอาจต้องก๊อบปี้แนวทางของซิลิคอนวัลเลย์ ที่ดึงคนเก่งด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาทำงานเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เช่น วันนี้เราต้องการสร้างสตาร์ตอัพ 1 ล้านคน บน 2 หมื่น tech start up อาจจะต้องใช้วิธีดึงก่อนสัก 30% หรือ 3 แสนคน หรืออาจจะดึงได้ 50%

ประเด็นนี้พ้องกับที่ “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เล่าให้ฟังว่า บีโอไอต้องการส่งเสริมให้ภาคเอกชนของไทยโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ สร้างสถาบันพัฒนาบุคลากรขึ้นมามาก ๆ อย่างเช่น ปตท.ทำสถาบัน Vistec กำเนิดวิทย์ หรือ CP ทำปัญญาภิวัฒน์ โตโยต้าทำวิทยาลัยยานยนต์ IRPC มีวิทยาลัยด้านปิโตรเคมี ซึ่งไม่เพียงเพื่อใช้ในองค์กร แต่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาคนรองรับอุตสาหกรรมนั้น ๆ ให้มากขึ้นด้วย

เป็นไปตามกลยุทธ์ที่บีโอไอเรียกว่า Build and Buy คือมีทั้งการพัฒนาบุคลากรในประเทศ และการดึงคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยให้มาตรการส่งเสริม เช่น หากบริษัทใดมีการเทรนพนักงาน สามารถมาขอใช้บีโอไอได้ กระทรวงการคลังก็ร่วมด้วย โดยมีมาตรการสนับสนุน เช่น จ้างบุคลากรลดหย่อนได้ 1.5 เท่า ถ้าเป็นการเทรนหลักสูตรเป้าหมายจะลดหย่อนได้ 2.5 เท่า มากกว่าปกติ

“ตอนนี้ไทยจำเป็นต้องดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาช่วยเรา ทำอย่างไรให้ไทยมี talent pool ที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จึงได้มีการออกทั้ง smart visa และ long term residence visa หรือ LTR ให้วีซ่ายาว 10 ปี เพื่อจะดึงคนเก่งจากทั่วโลกให้เข้ามาช่วยเราพัฒนาประเทศ”

หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่าพรรคการเมืองที่เข้ามาจะจับทางและวางนโยบายเรื่องคนอย่างไร เพื่อโชว์กึ๋นแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ก่อนเข้าสู่ศึกเลือกตั้ง 2566

ศุภชัย เจียรวนนท์ กับสูตรปลดล็อกอนาคตประเทศไทย