3 แรงกระเพื่อม…หลังวิกฤตแบงก์ล้ม

แบงก์ล้ม
คอลัมน์​ : Next Normal
ผู้เขียน : ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร EXIM BANK

ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ไม่เพียงประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว อุณหภูมิทางเศรษฐกิจและการเงินโลกก็ดูจะร้อนระอุไม่แพ้กัน หลังเกิดปัญหาสภาพคล่องในภาคธนาคารสหรัฐ จนนำไปสู่การปิดธนาคาร 3 แห่ง ทั้ง Silvergate Bank, Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ไม่เพียงเท่านี้ยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของภาคธนาคารในยุโรป จนทำให้เกิดดีลคลุมถุงชนที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จำเป็นต้องจัดการให้ธนาคาร UBS เข้าซื้อกิจการของ Credit Suisse เพื่อห้ามเลือดไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายจนอาจกลายเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหม่

แม้ปัจจุบันปัญหาข้างต้นจะคลี่คลายไปได้เปลาะหนึ่ง หลังจากทางการของทั้ง 2 ประเทศยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวยังได้สร้างแรงกระเพื่อมและก่อให้เกิดความท้าทายใน 3 มิติที่น่าสนใจ ดังนี้

-เกิดความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงิน ผ่านมาแล้ว 1 ปีเต็มกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงถึง 9 ครั้ง สู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ที่ 4.75-5% โดยหวังว่าจะเป็นยาแรงในการกดเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ผ่านกำลังซื้อและตลาดแรงงาน แต่ที่ผ่านมาดูจะเห็นผลช้ากว่าที่คาด สังเกตได้จากค่าจ้างแรงงานที่ยังขยายตัวเฉลี่ยกว่า 5% ต่อเดือน ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และอัตราว่างงานที่ยังอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี ที่ 3.6%

แต่ในทางกลับกัน ดูเหมือนว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะกลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่มากระทบภาคธนาคารมากกว่า เห็นได้จากการปิดตัวของธนาคารบางแห่งที่มีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินผิดพลาด จนเกิดวิกฤตศรัทธาในภาคธนาคารขณะนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า Fed กำลังเผชิญสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการบรรลุ triple objectives ทั้ง price stability, economic stability และ financial stability ในเวลาเดียวกัน

ล่าสุดดูเหมือน Fed จำเป็นต้องผ่อนคันเร่งในการบรรลุเป้าหมาย price stability ลงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมครั้งล่าสุด จากก่อนหน้าที่ตลาดคาดว่าจะขึ้นถึง 0.5% หลังเป้าหมาย financial stability เริ่มสั่นคลอน สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายของ Fed ในการ balance เป้าหมายทั้ง 3 ประการ เพื่อให้เศรษฐกิจในภาพรวมเดินต่อไปได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้น

-เกิดการเปลี่ยนมือของ safe haven วิกฤตธนาคารที่เกิดขึ้นเหมือนกดปุ่ม risk off ให้กับสินทรัพย์เสี่ยง และเปิดโหมด risk on ให้กับสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) อีกครั้ง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ movement ของเงินทุนเคลื่อนย้ายในการไหลเข้า safe haven ที่เปลี่ยนไป โดยปี 2565 ที่โลกเผชิญกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความกังวล recession ตลอดทั้งปี สินทรัพย์ที่เป็นหลุมหลบภัยหลักดูจะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐมากกว่าทองคำ สะท้อนได้จาก dollar index ที่ไต่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดในรอบ 20 ปี ที่กว่า 114 ในเดือนกันยายน 2565 โดยทั้งปี 2565 แข็งค่าเฉลี่ยถึง 13% (Y-O-Y) เทียบกับราคาทองคำที่เพิ่มเพียง 0.1%

แต่หลังเกิดปัญหาภาคธนาคารสหรัฐในเดือนมีนาคม 2566 ดูเหมือนว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะเสียคะแนนนิยมให้กับทองคำมากขึ้น เห็นได้จากราคาทองคำที่ขึ้นไปแตะ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นราว 10% จากต้นปี 2566 สวนทางกับ dollar index ที่อ่อนค่าเกือบ 2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินทุนยังไหลเข้าสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง cryptocurrency โดยเฉพาะ bitcoin ที่ราคาวิ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 10 เดือนที่ราว 28,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ล่าสุด correlation ระหว่างทองคำกับ bitcoin ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90% นี่อาจเพิ่มน้ำหนักให้สมมติฐานที่ว่า bitcoin อาจมีโอกาสเป็น digital gold มากขึ้นก็เป็นได้

-เกิด after shock ในภาคธนาคาร แม้ทางการสหรัฐจะประกาศคุ้มครองเงินฝาก 100% ผ่านสถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐ หรือ FDIC จนหลายฝ่ายกังวลว่าการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดภาวะภัยทางศีลธรรม (moral hazard) ที่ทำให้ธนาคารและผู้ฝากเงิน take risk มากขึ้น จนนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้นดูจะยังไม่น่ากังวลเท่า after shock ที่กดดันภาคการเงินสหรัฐต่อเนื่อง สะท้อนได้จาก Bloomberg US Financial Condition Index ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2566 ที่กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 5 เดือน เงินฝากในช่วงเวลาเดียวกันที่ลดลงเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี แสดงให้เห็นถึงภาวะการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น inverted yield curve ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนานกว่า 9 เดือน ไม่เพียงสะท้อนความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ recession ในระยะถัดไป แต่ยังกดดัน margin ของธนาคารให้แคบลงจากต้นทุนเงินฝากระยะสั้นที่สูงขึ้น มากกว่ารายรับจากดอกเบี้ยระยะยาวที่ได้จากการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่อย่างอสังหาริมทรัพย์ สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายที่กำลังก่อตัวขึ้น เป็นความเสี่ยงที่อาจกระทบชิ่งถึงภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐก็เป็นได้

ท่ามกลางความไม่แน่นอนในภาคการเงินที่น่าจะยังอยู่กับเราไปอีกระยะ ผู้ประกอบการไทยต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด พร้อมที่จะ “กล้า” มองหาโอกาสที่ซ่อนตัวอยู่ในวิกฤต ขณะเดียวกัน ก็ต้อง “กลัว” อย่างมีสติ และเตรียมเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้ครบมือ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของเราให้ได้ทันท่วงทีนะครับ

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK